วุฒิสภามีมติให้อดีตจเรตำรวจเป็นบอร์ด ป.ป.ช.หลังถกคุณสมบัตินาน 5 ชม.

ข่าวการเมือง Monday October 1, 2012 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติด้วยคะแนนเสียง 76 ต่อ 43 เห็นชอบให้ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แทนตำแหน่งที่ว่าง หลังที่ประชุมใช้เวลาถกเถียงเรื่องคุณสมบัตินานเกือบ 5 ชั่วโมง เนื่องจากเกรงจะเกิดปัญหาในอนาคต

รายงานข่าว แจ้งว่า ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาวาระด่วนเรื่องการให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งจะเป็นการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช.แทนนายเมธี ครองแก้ว ที่หมดวาระการดำรงตำแหน่ง หลังจากคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม ได้พิจารณาเสร็จแล้ว

ก่อนจะมีการลงมติเรื่องนี้ สมาชิกวุฒิสภาหลายคนได้ลุกขึ้นอภิปรายแสดงความเป็นห่วงปัญหาเรื่องคุณสมบัติของ พล.ต.อ.สถาพร เนื่องจากเห็นว่า อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 246 วรรค 2 ที่บัญญัติว่า "กรรมการ ป.ป.ช.ต้องเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางบริหารในหน่วยราชการที่มีอำนาจบริหารเทียบเท่าอธิบดี" แต่ตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายของ พล.ต.อ.สถาพร อาจไม่เทียบเท่าอธิบดี เพราะเป็นลักษณะการได้รับมอบหมายให้บริหารจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเฉพาะเรื่องเท่านั้น ไม่มีอำนาจเทียบเท่ากับ ผบ.ตร.แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเทียบเคียงตำแหน่งอย่างอื่นเท่ากับการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ยังไม่ชัดเจน และไม่ยืนยันว่าตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติมีอำนาจบริหารเทียบเท่าอธิบดี แต่เป็นการเทียบเคียงด้านผลประโยชน์เท่านั้น ทั้งนี้ให้ที่ประชุมฯ มีการเรียกร้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เนื่องจากการลงมติของสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้อาจมีผลผูกพันและอาจสร้างปัญหาให้กับคณะกรรมการสรรหาในอนาคต เพราะข้าราชการที่มีตำแหน่งไม่เทียบเท่าอธิบดีจะยึดโยงมตินี้ และสมัครเป็นกรรมการในองค์กรอิสระกันมาก

ขณะเดียวกันมีสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน เห็นว่า คุณสมบัติของ พล.ต.อ.สถาพร ไม่น่าขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะคำว่าเทียบเท่าเป็นการเทียบเคียงตำแหน่งที่ใกล้กัน ไม่ใช่ตำแหน่งอธิบดีโดยตรง และ กพ.เคยมีความเห็นในเรื่องนี้แล้ว อีกทั้งผ่านการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการสรรหา ซึ่งมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาอย่างรอบคอบแล้ว

ด้านคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม ยืนยันว่า คุณสมบัติของ พล.ต.อ.สถาพร ไม่น่าขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะคำว่าเทียบเท่าเป็นการเทียบเคียงตำแหน่งที่ใกล้กัน ไม่ใช่ตำแหน่งอธิบดีโดยตรง และ กพ.เคยมีความเห็นในเรื่องนี้แล้ว อีกทั้งผ่านการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการสรรหา ซึ่งมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มาอย่างรอบคอบแล้ว อีกทั้งเห็นว่าสมาชิกวุฒิสภามีหน้าที่เพียงตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมเท่านั้น ไม่มีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติ

อย่างไรก็ตาม หลังเปิดให้อภิปรายระยะหนึ่ง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สั่งให้มีการประชุมลับ และภายหลังประชุมลับเสร็จสิ้น นายสมชาย แสวงการ สว.สรรหา เสนอญัตติส่งเรื่องคืนให้คณะกรรมาธิการสรรหาฯ เพื่อทำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลให้ยุติ แต่ สว.บางส่วนเสนอให้เดินหน้าลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ พล.ต.อ.สถาพร ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.ซึ่งที่สุดแล้ว ที่ประชุมฯ ตัดสินใจลงมติเห็นชอบให้ พล.ต.อ.สถาพร ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยมติ 76 ต่อ 43


แท็ก ป.ป.ช.   ลาว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ