ประชุมร่วมรัฐสภาเดือด ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้านเห็นต่างปมแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50

ข่าวการเมือง Tuesday October 2, 2012 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมร่วมรัฐสภาหยิบยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ขึ้นอภิปรายเพื่อพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการต่อไป โดย ส.ส.รัฐบาล สนับสนุนให้มีการเดินหน้าลงมติวาระ 3 เพื่อแก้ไข รธน.ต่อไป ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน เสนอให้ตั้งกรรมาธิการร่วมรัฐสภาศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้ง

รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า วันนี้มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายนิคม ไวรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ ซึ่ง พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา หารือเรื่องการชุมนุมทางการเมืองที่ส่งผลกระทบให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย ซึ่งต้องการทราบเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลจึงปล่อยให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะและ สร้างปัญหาให้ประเทศชาติ ใช้กฎหมู่เหนือกฎหมายอีกนานเท่าไหร่ พร้อมขอให้เอาร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะขึ้นมาพิจารณาด้วย

ขณะที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หยิบยกรายงานสรุปของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ที่ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการนำปืนสไนป์เปอร์มาใช้ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 53

หลังจากนั้นประธานได้แจ้งเข้าสู่วาระการประชุม เรื่องแรกเป็นเรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุมให้รับทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีมีผู้ร้องให้ศาลฯ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีสมาชิกหลายคนลุกขึ้นหารือ โดยนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.เพื่อไทย กล่าวว่า เคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุในคำวินิจฉัย เขียนชัดว่าถึงขณะนี้ทุกอย่างตามคำร้องที่อ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นเป็นเพียงการสันนิษฐานที่ยังไม่มีองค์ประกอบของข้อเท็จจริงใดๆ ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมายังไม่มีส่วนใดที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ดังนั้นโดยส่วนตัวจึงย้ำต่อที่ประชุมว่า ยังต้องการเห็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสำคัญใน 4 ส่วน คือ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคำร้อง และการชี้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มีส่วนใดส่อว่าจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง แต่มีส่วนหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญให้กระบวนการรัฐสภารับผิดชอบร่วมกัน กรณีการแก้รัฐธรรมนูญแต่ถึงขณะนี้กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ จากรัฐสภาเช่น ตั้งกรรมาธิการร่วมรัฐสภา คงมีแต่ในส่วนของรัฐบาลที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด(ชุด 11 อรหันต์ ) ซึ่งผลจากการที่สภาไม่มีแนวทางร่วมกันที่สุดหากประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกหยิบกลับเข้ามาอาจทำให้เกิดความขัดแย้งเปรียบเสมือนบ้านเมืองลุกเป็นไฟอีกครั้ง ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐสภา ควรตั้งกรรมการขึ้นมา 1 ชุดไม่ใช่รอการชี้นำของรัฐบาลฝ่ายเดียว

นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่สมาชิกรัฐสภาก็ไม่ควรเหมารวมหรือคิดว่าตัวเองเป็นตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นการดำเนินการใดๆ เห็นควรต้องทำให้รอบคอบและหลีกเลี่ยงที่จะนำไปสู่สิ่งที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ดังนั้นทางออกหนึ่งควรดำเนินการตามข้อเสนอของบางฝ่ายที่ให้มีการทำประชามติก่อนที่จะมีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 เพราะการลงประชามติคือเสียงของประชาชน ส่วนใหญ่อย่างแท้จริงไม่ใช่การที่สมาชิกรัฐสภามาคิดแทนประชาชน

นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เพื่อไทย กล่าวว่า ในคำวินิจฉัยส่วนตัวมีตุลาการเสนอให้มีกระบวนการทำประชามติ แต่ก็ไม่ได้ระบุชัดว่าจะทำประชามติ ในช่วงเวลาใด จึงทำให้เกิดการถกเถียงว่าการทำประชามติต้องทำก่อนลงมือแก้ไขว่า ควรแก้ไขหรือไม่ หรือทำหลังจากยกร่างเสร็จแล้ว แต่โดยส่วนตัวเห็นว่า ขณะนี้มีทางออกเพียงทางเดียวคือ การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 แต่จะลงว่าแก้หรือไม่แก้ ไม่สามารถที่จะถอนร่างกฎหมายดังกล่าวได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะลงมติเห็นควรให้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายอย่างกว้างขวางเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ส่วนกระบวนการลงประชามตินั้นอาจเกิดขึ้นได้หลังจากยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 แล้ว และนำไปให้ประชาชนลงประชามติ

นายวรชัย เหมะ ส.ส.เพื่อไทย กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันมีที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งให้อำนาจกับองค์กรอิสระอย่างมากเป็นเหมือนอำนาจล้นฟ้า แม้กระทั่งการลุกขึ้นมาคัดค้านในสิ่งที่ประชาชนต้องการหรือรัฐบาลดำเนินการ ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องหารือกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะเข้ามาก้าวก่ายรัฐสภาหรือไม่ เพราะตามหลักการการถ่วงดุลเป็นเรื่องของ 3 อำนาจคือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ดังนั้นหากจะพิจารณาก็ควรเริ่มจากการพิจารณาอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน เพราะที่ผ่านมาเป็นเหมือนกับดักที่ทำให้ตอนนี้ประชาชนต่างสอบถามถึงการลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ว่า เมื่อไหร่จะดำเนินการลงมติและหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ควรมีแนวทางแก้กับดักหรือวางขอบเขตของอำนาจศาลรัฐธรรมนูญด้วย รวมไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ที่เป็นเหมือนกับดักเช่นกัน ดังนั้นเห็นว่า กระบวนการต้องเดินหน้าต่อไปตามเจตนารมณ์

นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.เพื่อไทย กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่จำเป็นต้องกระทำเพื่อให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตย เพราะส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 50 แม้จะอ้างว่ามาจาก ส.ส.ร.เช่นกัน แต่ตัวแทนที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ส่วนตัวเห็นว่ามาจากการจัดตั้งที่มีการวางตัวบุคคลไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาที่เห็นว่าสมาชิกรัฐสภาไม่น่าจะรับได้คือในมาตรา 309 ซึ่งมีการระบุ ให้รองรับผลของการกระทำของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 49 คือ การรองรับว่า การรัฐประหารเป็นการกระทำโดยชอบนั่นเอง นอกจากนี้แม้จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ผ่านการทำประชามติแต่ในขณะนั้นเป็นบรรยากาศของการทำประชามติที่ 30 จังหวัดอยู่ภายใต้การประกาศกฎอัยการศึก เปรียบเสมือนประชาชนถูกบีบบังคับในการลงประชามติ และยังมีการรณรงค์ให้รับรัฐธรรมนูญปี 50 ไปก่อนแล้วจึงค่อยมาแก้ไข

การอภิปรายของ นพ.เหวง ทำให้ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ลุกขึ้นประท้วงว่าไม่มีการบีบบังคับให้ประชาชนลงประชามติและขอให้ นพ.เหวงถอนคำพูด แต่ นพ.เหวง ยืนยันมีหลักฐานและไม่ถอนคำพูด และพร้อมที่จะพา พล.อ.สมเจตน์ ไปพบกับชาวบ้านที่ถูกบีบบังคับประชามติ พร้อมย้ำส่วนตัวยอมรับได้กับทหารประชาธิปไตย แต่จะต่อต้านทหารที่เป็นเผด็จการ

ความขัดแย้งเริ่มบานปลายเมื่อนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงเรียกร้องให้นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นประธานการประชุม สั่งให้ นพ.เหวงออกจากห้องประชุม ถ้าไม่ยอมถอนคำพูดระบุมีการอภิปรายว่า ทหารใช้ปืนจี้ให้ประชาชนไปลงประชามติซึ่งไม่เป็นความจริง พร้อมเห็นว่าการอภิปรายของสมาชิกขณะนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรค 5 ที่ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นเด็ดขาดผูกพันหลายองค์กรโดยเฉพาะรัฐภา

ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นอกจากพาดพิงถึงทหารแล้ว นพ.เหวงยังอภิปรายพาดพิงถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกจึงเรียกร้องให้ประธานตรวจสอบการอภิปรายของ นพ.เหวง เช่นกัน

ทั้งนี้ หลังเปิดให้หารือประเด็นดังกล่าวกว่า 3 ชั่วโมงก็ได้ปิดการอภิปราย และพิจารณาเรื่องด่วน ขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา(นาซ่า) เข้ามาดำเนินโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทย ตามมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญ ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ