In Focusศึกดีเบตชิงเก้าอี้ปธน.สหรัฐ...โอบามาจะนำโด่งหรือรอมนีย์จะตีตื้น?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 3, 2012 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐกำลังจะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายนนี้ นับดูแล้วก็เหลือเวลาอีกแค่ 1 เดือนกับอีกไม่กี่วันเท่านั้น ศึกแย่งชิงคะแนนเสียงระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต และนายมิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกัน จึงทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และในเวลาประมาณ 21.00 น. ของคืนนี้ตามเวลาสหรัฐ (ราว 8.00 น.ของเช้าวันพฤหัสบดีตามเวลาประเทศไทย) ศึกปะทะคารมครั้งใหญ่ระหว่างตัวแทนจากทั้งสองพรรคกำลังจะเปิดฉากขึ้น

นี่จะเป็นการโต้วาทีนัดแรกจากทั้งหมด 3 นัดก่อนถึงวันเลือกตั้ง การดีเบตจะจัดขึ้นที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด โดยใช้เวลาประมาณ 90 นาที และจะมีการถ่ายทอดสดไปทั่วสหรัฐและทั่วโลก ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่อเมริกันชนเท่านั้นที่ตั้งหน้าตั้งตารอ แต่ทั่วโลกก็กำลังจับตาดูแบบไม่วางตากันเลยทีเดียว

ได้โอกาส “โชว์เหนือ"

การปะทะคารมครั้งนี้ไม่ใช่แค่การแสดงวิสัยทัศน์ทางการเมืองเท่านั้น แต่ผู้ชิงตำแหน่งทั้งสองยังต้องแสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำ ความหนักแน่นมั่นคง ปฏิภาณไหวพริบ การควบคุมอารมณ์ ความคล่องแคล่ว พูดง่ายๆว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มี เพื่อทำให้ประชาชนเห็นว่าตัวเองดีพอ และที่สำคัญคือดีกว่าฝ่ายตรงข้าม จึงจะสามารถครองใจชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนได้

โดยปกติผู้สมัครที่เป็นประธานาธิบดีมักได้เปรียบเพราะมีตำแหน่งเป็นเครื่องการันตีอยู่แล้ว แต่ถ้าทำได้ไม่ดีตามที่ประชาชนคาดหวังหรือทำพลาดก็มีสิทธิเจ็บหนักกว่าฝ่ายที่ไม่ได้มีตำแหน่งผู้นำค้ำคอ ส่วนผู้ท้าชิงแม้จะเสียเปรียบตั้งแต่ต้น แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ชอบเชียร์มวยรองบ่อน หรืออาจเอือมระอากับการบริหารงานของผู้นำคนเก่าเต็มทน นอกจากนั้นยังมีอีกหลายรัฐที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะฉะนั้นหากผู้ท้าชิงสามารถแสดงศักยภาพของตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่จนเข้าตากรรมการก็มีสิทธิได้คะแนนเช่นกัน

จุดอ่อน-จุดแข็ง

ในการดีเบตครั้งแรกคาดว่า โอบามาน่าจะพยายามกลบจุดอ่อนเรื่องนโยบายต่างประเทศ ด้วยการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับประเด็นในประเทศเป็นสำคัญ เช่นการทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องและกระตุ้นการจ้างงานในประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี รอมนีย์ก็คงไม่ปล่อยให้โอบามารอดตัวไปได้ง่ายๆ คาดว่าเขาได้เตรียมโจมตีโอบามาด้วยประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ เช่น นโยบายตะวันออกกลางหลังเกิดกระแสต่อต้านอเมริกาในโลกมุสลิม ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน เหตุโจมตีสถานกงสุลสหรัฐในลิเบียจนเจ้าหน้าที่หลายคนเสียชีวิต เป็นต้น

สำหรับในเรื่องทักษะการโต้วาทีนั้น รอมนีย์ค่อนข้างด้อยกว่าเพราะขาดประสบการณ์ในการโต้วาทีแบบตัวต่อตัว ดังนั้นจึงอาจไปไม่เป็นหากถูกรุกหรือต้องตอบคำถามแบบฉับพลัน ส่วนโอบามามีประสบการณ์มากกว่าเพราะเคยโต้วาทีกับนายจอห์น แมคเคน ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2551 แต่การห่างหายจากเวทีไปนานถึง 4 ปีก็คงทำให้ต้องเหนื่อยกับการเตรียมตัวไม่น้อย นอกจากนั้นยังต้องแบกรับแรงกดดันมหาศาลในฐานะผู้ป้องกันตำแหน่งด้วย

โพลล์หลายสำนักชี้ “โอบามา" ยังได้เปรียบ

ในการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งนี้ รอมนีย์ต้องพยายามอย่างหนักเพื่อเรียกคะแนนเสียงให้ได้ เพราะผลสำรวจหลายสำนักต่างชี้ไปในทางเดียวกันว่าโอบามายังได้เปรียบรอมนีย์อยู่ โดยโพลล์ซีเอ็นเอ็นให้โอบามานำรอมนีย์ 50% ต่อ 47% ขณะเดียวกันเอพีระบุว่าหากมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในตอนนี้ โอบามาจะได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละรัฐเหนือรอมนีย์ที่ 271 ต่อ 206 เสียง ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่จะทำให้ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไป

อันที่จริงแล้วรอมนีย์ก็ยังมีโอกาสหากเขาชนะใน 9 รัฐที่ไม่ภักดีต่อพรรคใดเป็นพิเศษ (swing state) อย่างไรก็ดี โพลล์วอชิงตันโพสต์/เอบีซีนิวส์ ให้โอบามานำรอมนีย์อยู่ 11% ใน 9 รัฐดังกล่าว นอกจากนั้นโพลล์สำนักเดียวกันยังระบุว่า จากการสอบถามความคิดเห็นของชาวอเมริกันที่มีสิทธิ์เลือกตั้งส่วนหนึ่ง ราว 55% จากทั้งหมดคิดว่าโอบามาจะชนะการประชันวิสัยทัศน์ครั้งแรก ขณะที่มีเพียง 31% ที่คิดว่า รอมนีย์จะชนะ

นายพอล ไรอัน ตัวแทนชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า พรรครีพับลิกันยังมีโอกาสชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ขณะที่นายเดวิด โพลฟฟ์ ที่ปรึกษาของโอบามา เห็นว่าการโต้วาทีคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก

แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้ตัดสินคือประชาชนชาวอเมริกัน และหลังการดีเบตครั้งแรกผ่านพ้นไปก็คงเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า อเมริกันชนต้องการให้ใครมาเป็นผู้นำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ