"ชัชชาติ"เผยหลักการเลือกเอกชนบริหารจัดการน้ำคำนึงปย.สูงสุด มีขั้นตอน-วิธีการโปร่งใส

ข่าวการเมือง Thursday October 18, 2012 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "ต้านทุจริตประมูลโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท" ว่า แนวคิดการใช้งบประมาณของภาครัฐบาลและภาคเอกชนได้คำนึงถึงคุณประโยชน์สูงสุดเป็นหลักเพื่อให้ได้คุณประโยชน์ตามที่ต้องการ โดยประเทศไทยได้นำแบบการจัดสรรงบประมาณและการดำเนินการเพื่อใช้ในโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนี้ มาจากประเทศสหรัฐฯ ซึ่งจะมีการดำเนินโครงการแบบ Design-build (ออกแบบและก่อสร้าง) เป็นแนวทางที่รวมการออกแบบและก่อสร้างไว้ด้วยกันภายใต้สัญญาเดียว ทำให้จุดรวมของความรับผิดชอบอยู่ที่จุดเดียว

สำหรับหลักการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเพื่อมาดำเนินโครงการดังกล่าวก็จะคำนึงถึงคุณค่าหรือประโยชน์ของโครงการเป็นสำคัญ ไม่ใช่เน้นแต่ราคาต่ำที่สุด

โดยการคัดเลือกที่คุณค่าจะต้องกำหนดขั้นตอนและวิธีการคัดเลือกให้ชัดเจน เพราะสังคมจะไม่เชื่อมั่นตัวบุคคลที่ทำหน้าที่คัดเลือก เนื่องจากกังวลปัญหาการทุจริตและเอื้อพวกพ้อง ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการคือ จัดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกโดยมีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วม 30-40 ราย และเปิดเผยเกณฑ์ให้คะแนนคัดเลือกต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ขณะเดียวกันยังต้องมีการประเมินผลงาน(KPI) ที่ชัดเจน เช่น ความสามารถในการระบายน้ำเป็นเท่าไร

"ที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่น้อยมาก" นายชัชชาติ กล่าว

ด้านนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กล่าวว่า การคัดเลือกเอกชนรอบแรกได้จบไปแล้วมีด้วยกันทั้งสิ้น 8 กลุ่ม ประกอบด้วย 41 บริษัท ประเทศไทย 19 บริษัท จีน 4 บริษัท เกาหลี 7 บริษัท ญี่ปุ่น 9 บริษัท สวิตเซอร์แลนด์ 1 บริษัท และลาว 6 บริษัท จากนั้นผู้ผ่านคุณสมบัติจะต้องยื่นกรอบแนวคิดภายในวันที่ 23 พ.ย.55 และจะมีการประกาศผลในวันที่ 31 ม.ค. 56 ทั้งนี้เมื่อเสร็จสิ้นแล้วทางคณะกรรมการจะเสนอให้ ครม. อนุมัติ ในวันที่ 16 เม.ย. 56 และมอบหมายให้สำนักนักงบประมาณส่งแผนงานจัดสรรเงินกู้ให้กับทางด้านการบริหารหนี้สาธารณะ ในวันที่ 25 เม.ย. 56 เพื่อให้ทันต่อการกู้

อย่างไรก็ตาม นายสุพจน์ กล่าวว่า ยังไม่รับทราบเรื่องการนำข้าวไปแลกเปลี่ยนในโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ ซึ่งหากจะดำเนินการจริงต้องยกเลิกโครงการนี้และเริ่มขั้นตอนใหม่ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน หรือหากจะใช้ข้าวไปแลกก็สามารถเจรจานำข้าวไปแลกแทนได้เมื่อทราบว่าผู้ชนะการประกวดราคาคือบริษัทใด แต่ไม่สามารถนำมาเป็นเงื่อนไขเพื่อให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาได้

ด้านนายต่อตระกูล ยมนาค ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ และนักวิชาการด้านวิธีการบริหารงานก่อสร้าง กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ ซึ่งที่ผ่านมาเคยให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปเปิดดูข้อมูลในเว็บไซต์ แต่ขณะนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ และขอความชัดเจนกรณีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะนำข้าวไปแลกกับโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ กับรัฐบาลจีน ทำให้จีนจะได้เป็นผู้ดำเนินโครงการนี้

"อยากให้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ด้วย คนส่วนใหญ่หรือประชาชนจะได้เข้ามาศึกษาได้ง่าย เนื่องจากมีความสำคัญมากและจะได้ช่วยกันเฝ้าระวังการทุจริต ซึ่งต้องทำให้โปร่งใสกว่าเดิม" นายต่อตระกูล กล่าว

ส่วนนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่นแห่งชาติ (ภตช.) กล่าวว่า โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำมีความสำคัญอย่างมากต่อภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากมีหลายฝ่ายจับตามองว่าจะมีจุดรั่วไหลของเงิน ซึ่งเป็นโครงการใหญ่และเงินก็มาจากภาษีประชาชน ซึ่งในความเป็นจริงก็จะมองไม่ออกว่าจะเกิดปัญหาดังกล่าวหรือไม่ ต้องรอดูหลังจากการก่อสร้างสำเร็จหรือมีปัญหาเกิดขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งนี้การทำงานของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่นก็จะติดตามการทำงานก่อสร้างนี้และมีความเป็นห่วงในเรื่องของการทุจริต เนื่องจากมีการใช้จำนวนเงินอย่างมาก

“เราห่วงทุจริตอยู่แล้ว เพราะมีการใช้เงินขึ้นมาก็จะเป็นโอกาสให้เกิดการทุจริต แต่ที่เราห่วงเป็นอย่างมากก็คือการป้องกันที่แท้จริง”


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ