นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) จะออกใบอนุญาตสัญญาสัมปทานคลื่น 3G ให้ 3 บริษัทที่ประมูลได้ว่า กทค. ซึ่งเป็นเพียงคณะกรรมการชุดเล็กในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่มีอำนาจลงมติออกใบอนุญาตการให้สัมปทานดังกล่าว เพราะในรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 47 วรรค 2 ระบุว่า “ ให้มีองค์กรของรัฐ ที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่ง ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ ตามวรรค 1 และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมทั้งนี้ตามที่กฏหมายกำหนด"
อีกทั้งเมื่อดูตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวในมาตรา 24 ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของบอร์ดชุดใหญ่ที่มี 11 คนคือ กสทช. และบอร์ดชุดเล็กคือ กสท.และ กทค. ชุดละ 5 คน ที่แยกเป็นสองขาตามภารกิจหน้าที่ในกิจการทั้งสองด้านคือ กสท.ที่ดูแลกิจการด้านวิทยุและโทรทัศน์ ส่วน กทค. ที่ดูแลงานด้านกิจการโทรคมนาคม โดยม.24 ระบุให้ การปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. กสท.และกทค.ในเรื่องใดที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะต้องทำโดยมติของที่ประชุมและต้องเปิดเผยรายงานการประชุมและการลงมติทั้งรายบุคคลและทั้งคณะให้สาธารณะชนทราบ
นายบุญยอด กล่าวต่อไปว่า เมื่อดูเจตนารมณ์และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วจะเห็นว่า การประมูลคลื่น 3 จี เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลประโยชน์ของชาตินับหมื่นถึงแสนล้านบาทการที่จะให้บอร์ดชุดเล็กอย่าง กทค.ซึ่งเป็นครึ่งของ กสทช.ทำหน้าที่พิจารณาในเรื่องที่ใหญ่และมีผลประโยชน์จำนวนมหาศาลเช่นนี้ จึงไม่เพียงพอ อีกทั้ง มาตรา 27 ของพ.ร.บ.เดียวกันนี้ยังกำหนดภารกิจ อำนาจหน้าที่ ของ กสทช.ไว้ถึง 25 กรณีซึ่งรวมถึงการอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ทั้งวิทยุ โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมที่ระบุชัดเจนใน (4) ของมาตรานี้
ดังนั้น การที่ กทค.มีมติออกมาจึงไม่เพียงพอกับการพิจารณาในผลประโยชน์ที่รัฐควรจะได้ จึงควรที่ต้องกลับไปขอมติจาก กสทช.ทั้งคณะในการอนุญาตจึงจะตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.นี้ ซึ่งคณะกรรมการกสทช.ทุกคนจะปฏิเสธอำนาจหน้าที่ในกรณีนี้ไม่ได้ และหากไม่มีการทบทวนหรือจัดการประมูลที่โปร่งใส ไร้ข้อครหาที่สาธารณชนเคลือบแคลงได้ ตนจะรวบรวมรายชื่อ ส.ส.หรือ ส.ว.ให้ได้ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสมาชิกแต่ละสภาเพื่อร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้มีมติให้ กสทช.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะต่อไป