นายไพบูลย์ นิติตะวัน สว.สรรหา เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ต.ค. จะมีการหารือกับ สว. จำนวนหนึ่ง ที่มีความเห็นตรงกันเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งส่อไปในทางไม่โปร่งใส และอาจขัดกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว แม้ว่าทาง กสทช. จะมีการชี้แจงข้อมูล แต่ยังคงพบประเด็นที่ส่อไปในทางมิชอบ เช่น การรีบเร่งรับรองการประมูล 3 จี ของคณะกรรมการโทรคมนาคม (กทค.) โดยไม่รับฟังข้อท้วงติงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งท้วงติงในประเด็นการดำเนินการจัดประมูลโดยไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของการประมูล
เนื่องจากมีการจัดสรรคลื่นความถี่ในจำนวนพอดีกับผู้ยื่นประมูล รวมทั้งมีการเสนอราคาน้อยครั้งเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่กำหนดให้มีการประมูล รวมถึงประเด็นการกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลที่ 4,500 ล้านบาท ทั้งที่ผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ควรมีราคาตั้งต้นที่ 6,440 ล้านบาท แต่ กสทช. กลับลดราคาตั้งต้นประมูลให้อยู่ที่ 4,500 ล้านบาท โดยอ้างเป็นราคาเริ่มต้นประมูล ซึ่งต่ำกว่ามูลค่าคลื่น 67% โดยความเห็นส่วนตัวมูลค่าการประมูลที่ได้ควรจะสูงกว่าราคาตั้งต้นที่ 6,440 ล้านบาท ไม่ใช่การลดราคาประมูลเหลือ 4,500 ต่อสลอตตามที่ กสทช. ได้ดำเนินการ
"เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่า จะมีทำเรื่องถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานซึ่งมีอำนาจเต็มในการบังคับใช้ พรบ.ฮั้ว โดยจะขอให้มีการดำเนินการอย่างเข้มข้น กับ กรรมการ กทค. ผู้ที่ลงมติรับรองผลการประมูล 3จี ได้แก่ พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค., นายสุทธิพล ทวีชัยการ, นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร กรรมการ กทค. ทั้งนี้จะมีการดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ต.ค. นี้" นายไพบูลย์ กล่าว