เอแบคโพลล์เผย พท.มีคะแนนนิยมเหนือ ปชป.เหตุนโยบายสาธารณะเด่น-เข้าถึงรากหญ้า

ข่าวการเมือง Sunday October 21, 2012 10:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยผลสำรวจประเมินจุดอ่อนและจุดแข็งของสองพรรคการเมืองใหญ่หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง โดยพบว่าพรรคเพื่อไทย(พท.) ยังมีคะแนนนิยมเหนือพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เนื่องจากมีความโดดเด่นเรื่องนโยบายสาธารณะ

"การเป็นรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.4 ระบุพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ร้อยละ 36.6 ระบุพรรคประชาธิปัตย์...ในประเด็นของความโดดเด่นในนโยบายสาธารณะพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.8 ระบุพรรคเพื่อไทย ส่วนร้อยละ 36.2 ระบุพรรคประชาธิปัตย์" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ขณะที่การใส่ใจปัญหาเดือดร้อนของสาธารณชนพบว่า ร้อยละ 53.7 ระบุ พท. ร้อยละ 46.3 ระบุ ปชป. ส่วนประเด็นของการเป็นที่วางใจได้ของสาธารณชน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 54.3 ระบุ พท. ร้อยละ 45.7 ระบุ ปชป.

ประเด็นของการแย่งชิงตำแหน่งขัดแย้งกันภายในพรรคพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.5 ระบุ พท. ร้อยละ 31.5 ระบุ ปชป. ส่วนประเด็นของการเอาแต่เล่นเกมการเมืองพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.9 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 41.1 ระบุพรรคเพื่อไทย

แต่ประเด็นของการมุ่งแย่งชิงอำนาจหวังลดความน่าเชื่อถือของพรรคการเมืองคู่แข่งจนเกินไปพบว่า พอๆ กัน คือร้อยละ 50.1 ระบุ ปชป. ขณะที่ร้อยละ 49.9 ระบุ พท. ส่วนประเด็นของความรวดเร็วฉับไวตอบสนองความเดือดร้อนของสาธารณชนพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.7 ระบุ พท. ส่วนร้อยละ 33.3 ระบุ ปชป.

ขณะที่ประเด็นการเปิดโอกาสให้สาธารณชนตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐพบว่า ก่ำกึ่งกันคือร้อยละ 49.7 ระบุปชป. ขณะที่ร้อยละ 50.3 ระบุ พท.

ประเด็นการเตรียมคณะบุคคลที่น่าเชื่อถือเป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์ของพรรคการเมืองพบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.2 ระบุ พท. แต่ร้อยละ 45.8 ระบุ ปชป.

โดยกิจกรรมที่อยากเห็นพรรคการเมืองลงพื้นที่ไปทำร่วมกับชาวบ้านมากที่สุดพบว่า ร้อยละ 45.4 อยากให้นักการเมืองของทั้งสองพรรคไปทดลองทำนา ดำนา หว่านข้าว ทำสวนทำไร่ เข้าสวนยางกับชาวบ้าน รองลงมาคือร้อยละ 21.6 อยากให้สัมผัสชีวิตเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ, ร้อยละ 13.7 อยากให้ทดลองใช้บริการโรงพยาบาลตำบล โรงพยาบาลอำเภอ, ร้อยละ 8.2 อยากให้เดินตลาดสด, ร้อยละ 6.3 อยากให้เข้าวัดฟังธรรม บำเพ็ญกุศล นั่งสมาธิ และร้อยละ 4.8 อยากให้ทำอื่นๆ เช่น แจกผ้าห่ม ผิงไฟ รับลมหนาวกับชาวบ้าน เดินห้างสรรพสินค้า แก้ปัญหายาเสพติดร่วมกับชาวบ้าน เป็นต้น

ส่วนความคิดเห็นที่มีต่อความพร้อมของ ปชป.ในการเสนอคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่นับรวมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในอนาคตพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.7 คิดว่ายังไม่พร้อม แต่ร้อยละ 29.3 คิดว่า ปชป. โดยในกลุ่มคนที่คิดว่ามีความพร้อมส่วนใหญ่หรือร้อยละ 42.8 ระบุนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองลงมาคือ ร้อยละ 35.1 ระบุนายกรณ์ จาติกวณิช, ร้อยละ 19.9 ระบุนายชวน หลีกภัย และร้อยละ 2.2 ระบุอื่นๆ เช่น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร, นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต และนายเทพไท เสนพงศ์ เป็นต้น

ขณะที่ความพร้อมของ พท.ในการเสนอคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่นับรวม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในอนาคตพบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 46.8 คิดว่ามีความพร้อม แต่เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.2 คิดว่ายังไม่พร้อม โดยในกลุ่มที่คิดว่ามีความพร้อมส่วนใหญ่หรือร้อยละ 53.7 ระบุ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองลงมาคือร้อยละ 21.6 ระบุคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ร้อยละ 15.5 ระบุ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, ร้อยละ 4.9 ระบุนายจาตุรนต์ ฉายแสง และร้อยละ 4.3 ระบุอื่นๆ เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นต้น

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า สิ่งที่สาธารณชนอยากเห็นคือ การแข่งขันกันในเชิงนโยบายสาธารณะที่ พท.กำลังมีความโดดเด่นในสายตาประชาชนมากกว่า ปชป. ถ้าในอนาคต ปชป.สามารถเสนอนโยบายสาธารณะที่โดนใจชาวบ้านมากกว่า พท.ทั้งในด้านนโยบายภายในประเทศ นโยบายที่เกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของสาธารณชน และนโยบายต่างประเทศสู่ชุมชนอาเซียนได้อย่างดี ผลสำรวจในอนาคตน่าจะแตกต่างไปจากการวิจัยครั้งนี้ได้

"ชาวบ้านน่าจะเกิดความหวังต่อบทบาทสำคัญของพรรคการเมืองที่มีความเป็นสถาบันว่าจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมลงไปได้บ้าง แต่ที่ผ่านมาข้อมูลข่าวสารมักจะปรากฏให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องผิดพลาดต่างๆ หรือ "ตีให้แรง" ในนโยบายของพรรคเพื่อไทยแต่สาธารณชนอาจจะยังไม่รับทราบว่าทางออกเชิงนโยบายสาธารณะของพรรคประชาธิปัตย์ที่ดีกว่าพรรคเพื่อไทยคืออะไร" นายนพดล กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เสนอแนะว่า ถ้าทุกฝ่ายทั้ง พท.และ ปชป.อยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปก็น่าจะใช้ระบบคุณธรรมความรู้ความสามารถแข่งขันชิงตำแหน่งภายในพรรคและหันมาประชันนโยบายสาธารณะกันระหว่างพรรคการเมือง โดยหยุดสร้างเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย และหากพบความผิดพลาดใดๆ ก็ส่งต่อให้กระบวนการยุติธรรมแห่งรัฐดำเนินการไปตามระบบ เพราะสถาบันการเมืองมีไว้เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งของคนในชาติมากกว่าและเพื่อไม่ให้ชาวบ้านรู้สึกเกลียดและเบื่อหน่ายนักการเมือง

ทั้งนี้ เอแบคโพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,073 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 14-20 ตุลาคมที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ