รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มี น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ เป็นประธาน มีมติหลังการประชุม กมธ.นัดพิเศษเพื่อพิจารณาแนวทางการตรวจสอบและชะลอการออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ 3G 2.1 GHGz เนื่องจากมีเสียงทวงติงจากหลายฝ่ายว่าการประมูลครั้งนี้อาจเข้าข่ายฮั้วประมูล โดยกมธ.จะส่งข้อมูลทั้งหมดที่มีให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ประกอบการพิจารณาในการดำเนินการกับคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งมีรายงานว่า ป.ป.ช.จะพิจารณาในวันที่ 25 ต.ค.นี้
ทั้งนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานอนุ กมธ.กฎหมายป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม วุฒิสภา ได้เสนอรายงานการศึกษาถึงการประมูล 3G ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค(สบอ.) ที่ได้ศึกษางานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลั ว่า การประมูล 3G ของ กสทช.ซึ่งมีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 3 ราย อาจเป็นสิ่งที่สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าผู้บริการทั้ง 3 รายจะได้รับใบอนุญาตตั้งแต่ยังไม่มีการประมูล
ขณะเดียวกัน สบอ.ยังระบุว่า การปรับราคาประมูลให้เพิ่มสูงขึ้นไม่มีผลกับราคาค่าบริการของผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย ได้จ่ายค่าสัมปทานให้รัฐรวมกันปีละ 4 หมื่นล้านบาทอยู่แล้ว และเมื่อศึกษารายละเอียดในรายงานยังพบว่า ผู้วิจัยได้ยกตัวอย่างไว้ว่าหากมีบริษัทเข้าร่วมประมูลเพียงแค่ 3 ราย กสทช.ต้องตั้งราคาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 82 ของมูลค่าความถี่คลื่น 1 สล็อต แต่ กสทช.กลับตั้งราคาเริ่มต้นไว้เพียงร้อยละ 70 เท่านั้น
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน และนายประสาร มฤคพิทักษ์ กรรมาธิการฯ ได้ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด กสทช.ซึ่งถือเป็นกรรมการชุดใหญ่ดูแลเรื่องการออกใบอนุญาตตามที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ให้อำนาจไว้ แต่กลับไม่มีการทบทวนหรือยับยั้งมติของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ในการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประมูลทั้ง 3 ราย ทั้งที่มีการท้วงติงจากกระทรวงการคลังว่าการประมูลครั้งนี้ อาจเข้าข่ายการฮั้วประมูลเกิดขึ้น ซึ่งหาก ประธาน กสทช. ยังไม่มีการดำเนินการใดหลังจากนี้อาจผิดวิสัยการทำหน้าที่ของ กสทช.
ขณะเดียวกันในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ที่ประชุมกรรมาธิการฯ จะเชิญ กทค.ทั้ง 5 คน มาชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมนำบันทึกรายงานการประชุมย้อนหลัง 4 ครั้ง เอกสารการออกใบประกาศการประมูล และใบอนุญาตในการใช้คลื่นความถี่ มาให้กรรมาธิการพิจารณา พร้อมทั้งเชิญนางสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง, คณะผู้วิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน มาร่วมชี้แจงข้อมูลต่อกรรมธิการฯ ในวันเดียวกันด้วย