รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า การประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย ศรีหล้า เป็นประธาน ได้เชิญตัวแทนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เข้าชี้แจงหลักเกณฑ์การประมูลใบอนุญาต 3G โดย พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองกรรมการ กสทช.ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) นำคณะเข้าชี้แจงฯ
พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าวย้ำว่า กสทช.ตัดสินใจด้วยทางสายกลางในการประมูลใบอนุญาต 3G แม้รู้ว่าจะต้องถูกวิจารณ์ แต่ก็ได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์หลักคือการจัดสรรคลื่นความถี่ก่อนวัตถุประสงค์รองคือรายได้รัฐ แต่ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างโปร่งใส
ความเจ็บปวดเกิดขึ้นเสมอจากการเปลี่ยนแปลง แต่ยืนยันว่า กสทช.ทำด้วยความบริสุทธ์ใจในการประมูล 3G ไม่เคยใช้วาจาจาบจ้วง ไม่เคยพูดในลักษณะปลุกปั่นให้เข้าใจผิด พร้อมยืนยันด้วยเกียรติของกรรมการ กสทช.ว่าไม่มีการแสวงหาประโยชน์จากการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ หาก กมธ.เห็นว่ามีความผิดปกติก็ขอน้อมรับการตรวจสอบอย่างละเอียด และยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มภาคภูมิ พร้อมกันนี้จะส่งเอกสารเกี่ยวกับการประมูล 3G ทั้งหมดไปที่ ป.ป.ช., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, สตง. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ในวันนี้ด้วย
ขณะที่นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.ได้นำผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาอ้างอิงและชี้แจงต่อ กมธ.ว่า มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า กสทช.ทำให้รัฐเสียหายกว่า 17,000 ล้านบาท โดยกำหนดราคาตั้งต้น 6,440 ล้านบาท แต่ในส่วนท้ายของผลการศึกษาให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชน โดยให้คิดราคาตั้งต้นไม่เกินร้อยละ 67 หรือไม่เกิน 4,314 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 15 เม็กกะเฮิร์ต และเมื่อดูจากราคาที่ กทค.กำหนดไว้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมากำหนดราคาประมูลกว่า 4,300 ล้านบาท ขณะที่ กสทช.จัดประมูลทั้งหมด 45 เมกะเฮิร์ตซ์ ได้รายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะมีผู้ประกอบการร่วมประมูลกี่ราย
พร้อมย้ำว่าหากกำหนดราคาตั้งต้นสูงเกินไปจะเกิดความเสี่ยงว่าสภาพการแข่งขันจะลดลงและการใช้เงินลงทุนมากของผู้ประกอบการก็จะผลักภาระให้ประชาชนที่เสียค่าบริการสูงขึ้น แต่ในแง่เทคนิคราคาคลื่น 3G ลดลง เพราะมีขณะนี้มีคลื่น 4 G แล้ว
กสทช.ยังยืนยันว่า ได้คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม แต่กลับถูกสังคมพิพากษาทั้งที่ทำถูกต้องแต่อาจไม่ถูกใจ ขณะที่ยืนยันว่าไม่ได้ขายตัวในโครงการประมูล 3G พร้อมท้าให้ตรวจสอบประวัติการทำงานที่ผ่านมาย้อนหลังว่าไม่เคยมีประวิติด่างพร้อย
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ชี้แจงต่อ กมธ.ว่า กสทช.ไม่ได้เปิดกว้างเรื่องคุณสมบัติ เพื่อให้ผู้ประมูลรายใหม่เข้าแข่งขัน มาตรฐานการประมูลจึงต่ำ หากไม่มีการแก้ไขแล้วเมื่อมีการประมูลระบบ 4G และ 5G ในอนาคตคงจะมีปัญหาเรื่องการปิดกั้นผู้ประกอบการรายใหม่ และจะกลายเป็นการเอาสมบัติชาติไปขายในราคาที่ต่ำกว่าทุน