จากนั้นเช้าวันที่ 10 พ.ย.จะมีพิธีทำบุญที่เจดีย์ชเวดากองจำลอง ใน อ.ท่าขี้เหล็ก และใช้โอกาสนี้พบปะพูดคุยกับพี่น้องประชาชนที่เดินทางจากประเทศไทยข้ามไปยังฝั่ง อ.ท่าขี้เหล็ก โดยไม่มีกำหนดเดินทางไปจุดก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย และการเข้าพบ พล.อ.เต็ง เส่ง ก็ไม่มีการหารือถึงการลงทุนในโครงการท่าเรือทวายตามที่เป็นข่าว แต่เป็นการพบปะเยี่ยมเยียนในฐานะเพื่อนเก่าเท่านั้น
พร้อมกันนี้ นายนพดล ยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ลงทุนหรือมีแผนลงทุนทางธุรกิจในพม่า ไม่มีประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใดทั้งสิ้น และการเดินทางเยือนพม่าก็ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
"ครั้งนี้เป็นการเดินทางมาในจุดที่ใกล้ไทยมากที่สุด เพราะ อ.ท่าขี้เหล็ก ใกล้กับไทยมากกว่าที่แขวงจำปาสัก ประเทศลาว ทั้งนี้คงไม่มีวาระเคลียร์ใจกับคนที่พลาดหวังจากการเป็นรัฐมนตรี และคงไม่มีใครไปสอบถามเรื่องนี้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการไปด้วยความรักและคิดถึง" นายนพดล กล่าว
ส่วนการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยนั้น นายนพดล กล่าวว่า คงไม่สร้างความลำบากใจให้แก่รัฐบาล เพราะหน้าที่จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ไม่ใช่ว่าตำรวจไทยจะไปจับใคร ที่ประเทศไหนก็ได้
"ถ้าคิดด้วยใจเป็นธรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกยึดอำนาจและตั้งคนที่เป็นปฏิปักษ์มาทำหน้าที่ตรวจสอบดำเนินคดีเปรียบเหมือนโจรปล้นทองแล้วนำทองมาหล่อพระพุทธรูปให้คนกราบไหว้บูชา ถามว่าถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ กระบวนการยุติธรรมต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ" นายนพดล กล่าว
สำหรับการเดินทางเข้าประเทศพม่าของอดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ทางการพม่ามีความเข้าใจและไม่ได้มีการขอร้องว่าจะใช้ประเทศพม่าเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะเป็นการเดินทางมาทำบุญปกติและใช้โอกาสนี้พบปะผู้นำพม่าซึ่งเป็นเพื่อนเก่า