ในขณะที่ประชาชนส่วนน้อยเพียง 20.40% เห็นว่าจะเป็นชนวนก่อให้เกิดการปฏิวัติได้ เพราะเป็นแรงกดดันอุดมการณ์ทางการเมือง และผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมเป็นกลุ่มที่ไม่พอใจรัฐบาล
สำหรับกรณีที่องค์การพิทักษ์สยามและเครือข่ายตั้งข้อกล่าวหาเพื่อขับไล่รัฐบาลนั้น ประชาชน 36.39% เห็นว่าจะสามารถดึงมวลชนเข้าร่วมเครือข่ายในการชุมนุมได้เพิ่มขึ้น เพราะมีคนให้ความสนใจมากขึ้น รวมทั้งการการทำงานของรัฐบาลไม่โปร่งใส ขณะที่ประชาชน 20.16% เห็นว่าคงมีผู้ร่วมชุมนุมเท่าเดิม เพราะขณะนี้มีทั้งประชาชนที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ประชาชนราว 53.73% เชื่อว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองขององค์การพิทักษ์สยามและเครือข่ายจะไม่สามารถกดดันให้รัฐบาลลาออกได้ มีเพียง 15.90% เชื่อว่าจะสามารถกดดันรัฐบาลให้ลาออกได้
เมื่อถามว่าในการชุมนุมครั้งต่อไปจะเกิดเหตุรุนแรงเหมือนในอดีตหรือไม่นั้น ประชาชน 50.60% เชื่อว่าจะไม่เกิดความรุนแรง เพราะมีบทเรียนจากอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งเจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมผู้ชุมนุมให้อยู่ในความสงบได้ แต่ประชาชนอีก 25.46% มองว่าจะเกิดเหตุรุนแรงขึ้น เพราะการชุมนุมทุกครั้งมักมีการปะทะกันและเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงตามมา
ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 61.93% เชื่อว่าในการชุมนุมครั้งนี้มีกลุ่มการเมืองหนุนหลังอยู่ เพราะมีการเอื้อประโยชน์ของนักการเมืองแอบแฝงอยู่และเป็นเรื่องปกติของการชุมนุม ขณะที่ประชาชนเพียง 10.92% เชื่อว่าไม่มีกลุ่มการเมืองหนุนหลัง เพราะเป็นเรื่องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความคิดเห็นทางการเมืองเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลไปในทิศทางเดียวกัน
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,245 คน เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.55