เลือกตั้งสหรัฐ 2012: ผู้เชี่ยวชาญชี้ปธน.สหรัฐคนใหม่ต้องใช้การทูตและการเจรจามากกว่านี้

ข่าวต่างประเทศ Tuesday November 6, 2012 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญชาวสหรัฐกล่าวว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐวันอังคารนี้ จะต้องให้ความสนใจกับการทูตและการเจรจามากขึ้น ขณะที่โลกผสานเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น แต่ก็ขัดแย้งกันในทุกประเด็นที่มีความซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงคราม วิกฤตเศรษฐกิจ

เกรก เพย์น ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของเอเมอร์สัน คอลเลจ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ตั้งแต่วันแรกของการทำหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้นำคนใหม่จะต้องรับมือกับประเด็นที่หลากหลายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ผู้นำคนใหม่จะสามารถทำหน้าที่สนองตอบต่อชาวอเมริกันและทั่วโลกได้ดีขึ้น หากเขาแสวงหาความร่วมมือมากกว่าที่จะขู่ทำสงคราม

โลกใบนี้เป็นเสมือนหมู่บ้านของทั้งโลก เราต้องรับมือกับประเด็นเรื่องปาเลสไตน์และอิสราเอล ซีเรีย และอื่นๆ แต่การรับมือกับเรื่องดังกล่าวจะใช้การเจรจาหรือการทูตมากขึ้นกว่าเดิม หรือจะเรียกร้องให้กระทรวงกลาโหมเตรียมพร้อมเพื่อทำสงครามบนบัตรเครดิตเหมือนกับที่เราเคยทำสงครามมาแล้วถึง 2 ครั้ง ผมไม่คิดว่า บัตรเครดิตจะทำหน้าที่ตรงนั้นได้ เพย์น ผู้เชี่ยวชาญและนักการศึกษาในด้านสื่อสารการเมือง การทูตสาธารณะ และการสื่อสารด้านวิกฤต กล่าว

ชาวสหรัฐจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันอังคารที่จะถึงนี้ เพื่อตัดสินใจเลือกประธานาธิบดีบารัค โอบามา หรือมิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงตำแหน่งจากพรรครีพับลิกัน โดยจะมีการประกาศรายชื่อผู้ชนะในวันพุธที่จะถึงนี้ และประธานาธิบดีคนใหม่จะเข้ามาทำหน้าที่ในช่วงต้นปีหน้า

ในแง่ของนโยบายต่างประเทศนั้น โอบามาอยู่ในจุดยืนที่ดีกว่า หากเขาได้รับคะแนนเสียงเข้ามาอีกครั้ง โอบามานั้นเป็นนักการเมืองระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญสูง ประธานาธิบดีจะต้องมีความสุขุมรอบคอบมากขึ้น ประการแรก เขาจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศทั่วโลก

ในทางตรงกันข้าม รอมนีย์ ซึ่งไม่มีนโยบายต่างประเทศที่ชัดเจนในระหว่างที่อภิปรายหาเสียงนั้น ผมคิดว่า เขาเป็นซีอีโอที่ดีมาก และเขาเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการเป็นผู้ว่าการ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่า ไม่รู้ว่าจะบอกอะไรได้เกี่ยวกับนโยบายของเขา ก็คือเรื่องของนโยบายต่างประเทศว่า จะออกมาในรูปแบบใด

เพย์น ซึ่งเป็นผู้อำนวยการด้านกองทุนของซาอุดิ อเมริกัน เอ็กซ์เชนจ์ หรือโครงการทางการทูตเพื่อประชาชนระดับรากหญ้าโครงการแรกนับตั้งแต่เหตุวินาศกรรม 9/11 โดยโครงการดังกล่าวได้รับเกียรติในการประชุม Clinton Global Initiative ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 โดยอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน เพื่อประชุมร่วมกับผู้นำทั่วโลกและหาทางออกให้กับสถานการณ์ที่ท้าทายและกดดันมากที่สุดในโลก กล่าวว่า หากตัดสินใจสิ่งที่นายรอมนีย์พูด เขาดูคล้ายๆกับจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ซึ่งมีปัญหา โดยเฉพาะเมื่อเขาปล่อยให้ดิ๊ค เชนีย์ อดีตรองประธานาธิบดี ซึ่งเป็นพวกอนุรักษ์อยู่รายล้อมตนเอง

เพย์น กล่าวถึง มิตต์ รอมนีย์ ด้วยความเคารพว่า รอมนีย์คงจะพูดว่า โอเค เราคงจะไม่สามารถเดินไปตามทางนั้นได้อีก

นอกจากนี้ รอมนีย์ยังคลุมเครือในเรื่องจุดยืนของตนเองในด้านนโยบายต่างประเทศในแง่ของการรับมือกับประเด็นต่างๆ ทั้งอิหร่านและซีเรีย ซึ่งแนวคิดของเขาแทบจะไม่แตกต่างไปจากนโยบายที่รัฐบาลชุดปัจจุบันใช้อยู่

ในการอภิปรายหาเสียงรอบที่ 3 กับโอบามานั้น รอมนีย์ไม่ได้ระบุว่า นโยบายของตนเองจะเป็นอย่างไร เขาคอยแต่จะพูดว่า ผมเห็นด้วยกับประธานาธิบดี และยังเห็นด้วยกับประธานาธิบดีมากขึ้นในการอภิปรายรอบที่ 3 เห็นด้วยยิ่งกว่าที่รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเห็นด้วยเสียอีก ดังนั้น จึงเหมือนกับว่า คุณควรจะเป็นรองประธานาธิบดีเสียมากกว่า เพย์นกล่าว

สำหรับกลยุทธ์ล่าสุดที่เกี่ยวกับจีนที่ค่ายหาเสียงทั้ง 2 ฝั่งนำมาใช้นั้น เพย์นกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ดูจะไม่เป็นธรรมนักกับการทำให้จีนกลายเป็นมารตามเกม ซึ่งคาดว่า เรื่องนี้จะหายไปทันทีที่การเลือกตั้งสิ้นสุดลง

เพย์นกล่าวว่า ปฏิกริยาของผมก็คือ เราอยู่ในหมู่บ้านของโลกใบนี้ จีนต้องการเรา และเราก็ต้องการจีน เราต้องมีสัมพันธ์อันดีกับจีน สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ