เจมส์ ชอฟฟ์ จากมูลนิธิคาร์เนกี้เพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า เขาไม่คิดว่าวิถีความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นจะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันมากนักในรัฐบาลโอบามา 2
การสิ้นสุดลงของสงครามซึ่งกินเวลานานถึง 10 ปีในอิรัก และการกำหนดช่วงเวลาถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานภายในสิ้นปี 2557 นั้น สะท้อนว่าโอบามากำลังหันมาพุ่งเป้าที่เอเชีย ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการเติบโตของจีนและความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ชอฟฟ์กล่าวว่า สหรัฐจะยังคงให้ความสำคัญกับเอเชียเป็นลำดับแรกๆ
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สหรัฐหวังว่าจะเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรในเอเชียให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่กลับดูเหมือนว่าญี่ปุ่นจะไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลสหรัฐคาดหวัง
ในช่วงวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีแรกของโอบามานั้น ญี่ปุ่นมีนายกรัฐมนตรีถึง 4 คน คือ นายทาโร่ อาโสะ นายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายนาโอโตะ คัง และนายโยชิฮิโกะ โนดะ ซึ่งไมร์ยา โซลิส นักวิชาการอาวุโสจากศูนย์ศึกษานโยบายเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือแห่งสถาบันบรู๊กกิงส์ ให้คำจำกัดความว่า "ประตูหมุนของนายกรัฐมนตรี" ซึ่งเขาระบุว่าเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการประสานความร่วมมือด้านนโยบายให้เป็นไปอย่างราบรื่น
โซลิสกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐให้ดีขึ้นนั้น ไม่ใช่ผลของการเลือกตั้ง แต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลญี่ปุ่น โดยเธอเชื่อว่า ความมีเสถียรภาพด้านโยบายจะช่วยให้ญี่ปุ่นมีสิทธิมีเสียงในประเด็นสำคัญๆระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ความต่อเนื่องในการบริหารประเทศของผู้นำสหรัฐเกิดขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังจะย่างเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป
แม้นายชินโสะ อาเบะ หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน จะถูกยกให้เป็นตัวเก็งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่โซลิสแนะว่า สหรัฐไม่ควรตั้งความหวังว่าจะได้สิทธิพิเศษหากพรรคแอลดีพีจะกลับมาครองอำนาจอีกครั้ง
สำหรับเรื่องข้อพิพาทระหว่างญี่ปุ่นและจีนเกี่ยวกับหมู่เกาะเซนกากุนั้น โซลิสกล่าวว่า ความต่อเนื่องในการบริหารประเทศน่าจะดีกว่าสำหรับช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานในการเผชิญหน้ากับจีนเช่นนี้
สหรัฐประกาศว่าจะไม่เข้าข้างฝ่ายใดในเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก แต่ขณะเดียวกันก็ระบุว่าสหรัฐจะปกป้องญี่ปุ่นหากมีการโจมตีด้วยอาวุธเกิดขึ้นที่หมู่เกาะดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะเขตแดนนั้นอยู่ภายใต้สนธิสัญญาด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์จีนกล่าวว่า จุดยืนที่มีเล่ห์เหลี่ยมของสหรัฐในเรื่องนี้กลับจะยิ่งจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น
แดน สไนเดอร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Freeman Spogli Institute for International Studies แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า เสียงวิจารณ์จากจีนอ้างว่า ชาวอเมริกันกำลังดึงญี่ปุ่นเข้าสู่ลัทธิของการใช้กำลังทหาร
"เป็นเรื่องอันตรายหากมีการปลูกฝังแนวคิดดังกล่าว และจะนำไปสู่ความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น" สไนเดอร์กล่าว แต่ขณะเดียวกันก็เสริมว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะยังคงอยู่ในระดับภายใต้รัฐบาลโอบามา "ผมคิดว่ารัฐบาลโอบามาส่งสัญญาณชัดเจนมาโดยตลอดว่าไม่ต้องการให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น"
ด้านโซลิสกล่าวว่า เธอคิดว่ารัฐบาลสหรัฐต้องการผู้นำที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งด้านดินแดน ขณะที่สไนเดอร์คาดว่า ความขัดแย้งด้านดินแดนระหว่างญี่ปุ่นและจีนจะยังไม่เลือนหายไปในอนาคตอันใกล้นี้
สหรัฐระบุว่าจะไม่รับบทคนกลางในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ และสนับสนุนให้ทั้ง 2 ประเทศคลี่คลายประเด็นระดับทวิภาคีผ่านแนวทางการทูต อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องที่สร้างความปวดให้กับรัฐบาลสหรัฐในด้านการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจด้วย เนื่องผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของ 2 ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย ถือเป็นเรื่องไม่พึงปรารถนาสำหรับสหรัฐ
"สหรัฐต้องคิดว่าจะเล่นบทบาทใด... เราต้องคิดถึงแนวทางที่จะทำให้ประเด็นเหล่านี้เกิดความคืบหน้าได้อย่างแท้จริง" สไนเดอร์กล่าว