นายกฯ ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21 ที่กัมพูชา 18-20 พ.ย.

ข่าวการเมือง Wednesday November 14, 2012 08:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดจะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2555 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยการประชุมสุดยอดครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ 2 ของปี ซึ่งนอกจากจะมีการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนด้วยกันเองแล้ว จะมีการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับคู่เจรจาที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามและการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุม ASEAN Global Dialogue (AGD) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย

การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของเพื่อทบทวนพัฒนาการความคืบหน้าการทำงานที่ผ่านมา และให้ทิศทางรวมทั้งแสวงหาแนวทางเพื่อผลักดันประเด็นความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันต่อไปทั้งในกรอบอาเซียนและกับคู่เจรจา ตลอดจนเป็นโอกาสให้แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องประเด็นในภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ

สำหรับหัวข้อการหารือของการประชุมสุดยอดอาเซียนประกอบด้วย 1) การสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งรวมถึงการดำเนินการตามแผนงานสามเสา และแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน 2) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยผู้นำอาเซียนจะรับรองในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของอาเซียนในการร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 3) การแต่งตั้งเลขาธิการอาเซียนคนใหม่สืบต่อจาก นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในสิ้นปีนี้ และ 4) การแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ

ในการประชุมกับคู่เจรจานั้น จะเน้นการทบทวนความร่วมมือและทิศทางในอนาคต รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ และการประชุม ASEAN Global Dialogue นั้น ประธานอาเซียนได้กำหนดหัวข้อ “Role of multilateral institutions, ASEAN and East Asia in addressing economic and financial disorder"

นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจาเขตการค้าเสรีกับอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย จะประกาศการเริ่มต้นเจรจาความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ด้วย

ในการประชุมฯ ครั้งนี้ คาดว่าจะมีเอกสารผลลัพธ์ทั้งสิ้น 11 ฉบับที่สำคัญ ได้แก่ 1) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 2) แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีน ในโอกาสครบรอบ ๑๐ ปี ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ : เพื่อเพิ่มพูนสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือ 3) แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีน ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ : เพื่อเพิ่มพูนสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือ 4) ปฏิญญาพนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มการพัฒนาของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และ 5) ปฏิญญาร่วมว่าด้วยการประกาศการเริ่มเจรจาความตกลง RCEP


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ