นอกจากนี้ โอบามากล่าวว่า การที่นางออง ซาน ซูจี ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการที่รัฐบาลพม่ายอมปล่อยตัวนักโทษหลายร้อยคนนั้น ถือเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลพม่าที่จะดำเนินการปฏิรูปการเมือง
ทั้งนี้ โอบามาซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐที่เดินทางเยือนพม่านั้น จะเข้าพบกับพล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่าที่ทำเนียบรัฐบาล และจะพบกับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่บ้านพัก นอกจากนี้ โอบามาจะเดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์รวมความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 และจากนั้นจะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาคที่พนมเปญ
การเดินทางเยือนพม่าของโอบามามีขึ้นหลังจากรัฐบาลพม่าประกาศปล่อยตัวนักโทษอีก 452 คนที่ยังเหลืออยู่ในเรือนจำเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงนักโทษต่างชาติ โดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กล่าวว่าการปล่อยตัวนักโทษในครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะ "สร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นภายในประเทศและสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ทั้งในแง่ของมนุษยธรรมและไมตรีจิต โดยจะนำนักโทษเหล่านี้ให้กลับคืนสู่สถานะพลเรือน และเพื่อให้เกิดภาพพจน์ที่ดีของประเทศ และเพื่อเห็นแก่ความสัมพันธ์อันยาวนานกับประเทศเพื่อนบ้าน"
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การนิรโทษกรรมนักโทษของพม่าครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยของรัฐบาล และยังเกิดขึ้นเพียง 4 วันก่อนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐ จะเดินทางเยือนพม่าครั้งประวัติศาสตร์ในวันนี้