ประธานวุฒิสภานัด 23-24 พ.ย.อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ,ไม่รอคำตอบรัฐบาล

ข่าวการเมือง Monday November 19, 2012 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานวุฒิสภา เผยบรรจุระเบียบวาระการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ในวันที่ 23-24 พ.ย.55 โดยไม่รอคำตอบจากรัฐบาล เพราะถือว่าได้ประสานไปแล้วถึง 2 ครั้ง และหากระยะเวลาไม่เพียงพอก็จะให้มีการอภิปรายต่ออีกในวันที่ 28 พ.ย.55

"ตามหลักกฎหมายวุฒิสภาสามารถบรรจุระเบียบวาระอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 161 ได้ โดยตัดสินใจให้มีการอภิปรายระหว่าง 23-24 พฤศจิกายน หากไม่เพียงพอจะต่อวันที่ 28 พฤศจิกายน อีก 1วัน โดยไม่ได้รอคำตอบจากรัฐบาลเพราะถือว่าได้ประสานไปยังรัฐบาล 2 ครั้งแล้ว ซึ่งหากรัฐบาลไม่มาชี้แจงก็เป็นสิทธิของรัฐบาลเอง" นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าว

โดยที่ประชุมวุฒิสภาจะเริ่มการอภิปรายฯ ตั้งแต่เวลา 09.00 น.ของวันที่ 23 พ.ย. ซึ่งจะเป็นการพิจารณาคัดเลือกเป็นกรรมการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ก่อน จากนั้นจะเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายทั่วไปได้

"หากรัฐบาลไม่ส่งตัวแทนมาฟังก็อาจเป็นการอภิปรายฝ่ายเดียว และเชื่อว่าจะมี ส.ว.บางส่วนออกมาตำหนิการกระทำดังกล่าว แต่หากไม่มีผู้ต้องการอภิปรายก็สามรถเลื่อนญัตติไปเป็นวันที่ 28 พฤศจิกายน" นายนิคม กล่าว

ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ไม่กังวลหากจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมมากดดัน เพราะ ส.ว.ไม่ใช่เป้าหมายของผู้ชุมนุม และเชื่อว่าการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามในวันที่ 24 พ.ย.55 จะไม่กระทบการอภิปรายของ ส.ว.

ส่วนการอภิปรายของวุฒิสภาก่อนฝ่ายค้านนั้นอาจทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านมีน้ำหนักลดลงหรือทำให้ฝ่ายค้านมีข้อมูลอภิปรายเพิ่มมากขึ้นก็ได้

ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นว่ากรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนดให้ในวันที่ 28 พ.ย.55 เพียงวันเดียวน้อยเกินไป และไม่มีหลักประกันว่านายกรัฐมนตรีจะเข้าชี้แจงด้วยตนเอง ดังนั้นจึงเห็นว่าเป็นสิทธิวุฒิสภาจะกำหนดกรอบเวลาที่เหมาะสม คือ ระหว่าง 23-24 พ.ย. ระหว่าง 09.30-22.00 น.รวม 2 วัน 24 ชั่วโมง ซึ่งทำหนังสือประสานไปยังรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่ตอบกลับ

รองประธานวุฒิสภา กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจก็สามารถมอบหมายให้รัฐมนตรีเข้าชี้แจงแทนได้ หากไม่มีใครมาชี้แจง รัฐบาลต้องตอบคำถามสังคมเอง แต่เห็นว่ารัฐบาลต้องให้เกียรติวุฒิสภา และเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะใช้เวทีวุฒิสภาชี้แจงข้อสงสัยต่อสังคม และอุ่นเครื่องให้รัฐบาล และลดความร้อนแรงของเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านลง เพราะเชื่อว่า เรื่องโครงการรับจำนำข้าวจะเป็นประเด็นหลักที่ถูกฝ่ายค้านอภิปรายฯ

"ผมไม่อยากเห็นภาพแบบนั้น อยากให้รัฐบาลให้เกียรติ อยากเห็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดว่าจะใช้เวทีสภาฯแก้ปัญหาและจะเป็นอีกบททดสอบว่ารัฐบาล จะให้ความสำคัญกับวุฒิสภาหรือไม่" นายสุรชัย กล่าว

รองประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามไม่น่ากระทบต่อการอภิปรายของวุฒิสภา เพราะแกนนำฯ ระบุชัดว่า ไม่มีนโนยายเคลื่อนผู้ชุมนุมมาปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภา และเบื้องต้น ส.ว.ได้หารือกันแล้วเรื่องความกังวลใจเกรงว่าจะมีการนำเรื่องอภิปรายของวุฒิสภาไปเชื่อมโยงกับการชุมนุมที่ตรงกัน แต่ข้อเท็จจริงแล้วเป็นเพราะหาวันลงไม่ได้จริงๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ