สิ่งที่จะทำต่อไปคือ ประมวลประเด็นที่ยังตกค้างอยู่ ชี้ให้สังคมเห็นว่ารัฐบาลคงมีหน้าที่ในการที่จะตอบกับประชาชน ขณะเดียวกันนั้นอะไรซึ่งสามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้ในทางกฎหมาย เพื่อเอาคนที่กระทำความผิด และเกี่ยวข้องกับการทุจริตมาลงโทษก็จะเดินหน้าไป เช่น เรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
"สตช.ยอมรับว่าพฤติกรรม และเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งหมดมันเข้าเกณฑ์ที่จะถอดยศ เพียงแต่ว่าใช้ดุลยพินิจของ สตช.ว่าจะไม่ทำ ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นประเด็นที่เราจะต้องมาวิเคราะห์ในเหตุผลอะไรต่างๆ ต่อไป แล้วก็เมื่อวานนี้ผมก็ถือว่าผมแจ้งประธาน กตช. คือนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไปแล้ว" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า การดำเนินการต่อไปนั้น นอกจากฝ่ายค้านจะเสนอเรื่องให้ประธานวุฒิสภา เพื่อยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบกรณีรัฐมนตรีกระทำผิดกฎหมายเข้าข่ายทุจริตแล้วก็จะมีกรณีอื่นๆ ที่ปรากฏในระหว่างการอภิปราย เช่น บางกรณีอาจจะต้องไปผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดิน บางกรณีก็อาจจะต้องไปยื่นกับผู้รับผิดชอบในหน่วยงานของราชการเสียก่อน เป็นต้น การลงมติเป็นกระบวนการทางการเมือง แต่เรื่องกฎหมายนั้นไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญฉบับไหน ยุคไหน กฎหมายเองก็เป็นกฎหมาย เพียงแต่ว่าช่องทางของการใช้สิทธิในการตรวจสอบทางกฎหมายก็เปลี่ยนแปลงไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในแต่ละยุค และกลไกใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาก็มี เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปใช้ช่องทางที่เราคิดว่าเหมาะสมที่สุด
"ไม่จบแน่นอนครับ เพราะว่าเราไม่ได้เพียงจะพูดเฉยๆ อะไรที่สามารถดำเนินการตรวจสอบแล้วก็ดำเนินการให้เกิดความถูกต้องได้ ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำต่อไป" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ ส.ส.รัฐบาลจะร่วมกันเข้าชื่อยื่นถอดถอน 6 ส.ส.ปชป.ที่อภิปรายขัดรัฐธรรมนูญนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "ก็เป็นสิทธิ์ของเขา ผมว่าผู้อภิปรายทุกคนก็จะรับผิดชอบกับคำพูดของตนเอง แล้วก็ในกระบวนการก็ผู้มีอำนาจก็จะพิจารณาต่อไป"
หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวถึงการชี้แจงของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายว่า แบ่งเป็น 2-3 ลักษณะ ลักษณะแรกคือพยายามชี้แจงตามประเด็น อย่าง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมสว.กลาโหม แต่ต้องบอกว่าคำตอบหรือน้ำหนักของเหตุผล ข้อมูล ข้อกฎหมายก็คงไม่สามารถจะมาหักล้างได้ แต่อย่างน้อยก็พยายามที่จะตอบโจทย์ตรงนี้
ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงไปเรื่อย แต่ไม่สามารถตอบข้อซักถามอะไรได้ แล้วก็เป็นลักษณะของการมาตอบโต้กันเสียมากกว่า ฉะนั้นก็ไม่ได้ตอบประเด็นต่างๆ ที่มีการอภิปรายอย่างชัดเจน และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย ชี้แจงแล้วเข้าใจยาก ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน พยายามบอกว่าการใช้วิธีพิเศษไม่ใช่เป็นการทุจริต หรือพยายามอ้างว่าวิธีการพิเศษนั้นเป็นเรื่องที่ทำกันมาโดยตลอดอะไรทำนองนี้ ซึ่งสรุปแล้วก็ไม่ได้เป็นคำตอบที่จะหักล้างสิ่งที่นำเสนอได้เลย
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตอบอะไรเลย มาพูดในสิ่งที่อยากจะพูด หลังจากนั้นก็มอบให้รัฐมนตรีคนอื่นมาตอบ และสำคัญที่สุดคือ โครงการจำนำข้าวเป็นเรื่องที่ไม่มีใครตอบเลย ชี้แจงเพียงแค่ว่าพยายามไปติดตามการทุจริตแล้ว