สาเหตุหลักที่ทำให้นายโนดะตัดสินใจยุบสภาคือ การขาดเอกภาพภายในพรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (ดีพีเจ) ของตนเอง โดยสมาชิกพรรคมีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายประเด็น อาทิ การปรับขึ้นภาษี การลดตัวเลขขาดดุล การฟื้นฟูประเทศจากภัยพิบัติ การแก้ปัญหานิวเคลียร์ ตลอดจนการแก้ไขข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับจีนและเกาหลีใต้ การบริหารประเทศต่อไปภายใต้ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ยากลำบาก นายโนดะจึงประกาศยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ อย่างไรก็ดี กระแสข่าวจากญี่ปุ่นระบุว่านายโนดะไม่ได้ยอมยุบสภาง่ายๆ โดยเขาต่อรองกับพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ให้ร่วมมือในการผ่านร่างกฎหมายสำคัญๆหลายฉบับก่อนที่จะประกาศยุบสภา
“ชินโสะ อาเบะ" จะกลับมา?
ถ้าพูดตามหลักการแล้ว ผู้นำคนใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชนว่า สามารถแก้ปัญหาสำคัญๆได้ อาทิ การฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งใหญ่และวิกฤตหนี้ยุโรป, การฟื้นฟูสถานะทางการเงินที่ย่ำแย่ลงเพราะค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการที่พุ่งสูง เนื่องจากประชากรสูงวัยมีมากกว่าวัยทำงาน, การแก้ปัญหาพลังงานหลังเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งต้องการให้เลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์แบบถาวรเพราะไม่อยากให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยอีกครั้ง แต่อีกส่วนเห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์ยังมีความจำเป็นอยู่ ไปจนถึงการจัดการข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะในทะเลระหว่างญี่ปุ่นกับจีนและกับเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ นายชินโสะ อาเบะ หัวหน้าพรรคแอลดีพี ก็มีโอกาสได้ครองตำแหน่งผู้นำประเทศแบบไม่ยากนัก เพราะหลังจากที่ผู้นำพรรคดีพีเจบริหารประเทศมา 3 คนก็ยังไม่มีผลงานโดดเด่นแต่อย่างใด ประชาชนจึงอาจหันกลับไปเลือกพรรคแอลดีพีที่เคยบริหารประเทศมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 50 ปี (ก่อนที่จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งและอำนาจตกไปอยู่ในมือพรรคดีพีเจในปี 2552 จนถึงปัจจุบัน) ขณะที่นายอาเบะเองก็มีประสบการณ์ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วในช่วงปี 2549-2550 ส่วนนายโยชิฮิโกะ โนดะ ที่เพิ่งประกาศยุบสภาไปนั้น คงมีโอกาสไม่มากที่จะได้กลับมาเป็นผู้นำสมัยที่ 2 เพราะประชาชนคงไม่ต้องการผู้นำคนเดิมกับนโยบายเดิมๆที่ไม่ได้สร้างความพอใจให้กับประชาชน
นับตั้งแต่มีการประกาศยุบสภา ผลสำรวจหลายสำนัก ได้แก่ โยมิอุริ อาซาฮี เกียวโด และนิกเกอิ ต่างระบุตรงกันว่า พรรคแอลดีพีโดยการนำของนายอาเบะได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่าพรรคดีพีเจโดยการนำของนายโนดะ
“พรรคร่วม" ตัวแปรสำคัญ
สัญญาณหลายๆอย่างบ่งชี้ว่า พรรคแอลดีพีของนายอาเบะน่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งกลางเดือนหน้า อย่างไรก็ดี มีกระแสคาดการณ์ว่าพรรคแอลดีพีจะไม่ได้ชัยชนะด้วยเสียงข้างมาก ดังนั้นพรรคร่วมจึงมีอิทธิพลอย่างมากในการจัดตั้งรัฐบาลผสม
โดยพรรคที่ได้รับการจับตาว่าน่าจะได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลคือ พรรคเจแปน เรสทอเรชั่น หรือพรรคฟื้นฟูญี่ปุ่น (เจอาร์พี) ซึ่งเป็นพรรคใหม่ที่ก่อตั้งโดยนายโทรุ ฮาชิโมโตะ นายกเทศมนตรีนครโอซาก้า และมีนายชินทาโร่ อิชิฮาร่า อดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียว เป็นหัวหน้าพรรค
ผลสำรวจของหนังสือพิมพ์โยมิอุริ ชิมบุน เผยว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 25% จะเลือกพรรคแอลดีพี, 14% จะเลือกพรรคเจอาร์พี และ 10% จะเลือกพรรคดีพีเจ นอกจากนั้นผู้ตอบแบบสอบถามยังเห็นว่านายอาเบะสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีที่สุด ตามมาด้วยนายอิชิฮาร่า และนายโนดะ ซึ่งผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พรรคเจอาร์พีน่าจะมีอิทธิพลมากพอสมควร และอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่มีส่วนในการกำหนดทิศทางการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่
ไม่ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง ใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็หวังว่าจะได้อยู่บริหารประเทศนานๆ เพราะการเปลี่ยนผู้นำบ่อยๆทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆขาดความต่อเนื่องและด้อยประสิทธิภาพ เมื่อผลงานออกมาไม่ดีประชาชนก็ไม่พอใจ สุดท้ายก็ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ กลายเป็นวงจรอุบาทว์ของการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองแบบไม่จบไม่สิ้น