นายนคร กล่าวว่า ในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ผ่านมา ฝ่ายค้านไม่ได้ยื่นถอดถอนรัฐมนตรีจากกรณีนี้เพราะเพิ่งเป็น มติ ครม.เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติฯ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ตนเองจึงได้แจ้งต่อพรรคขอไม่อภิปรายในประเด็นนี้และถอนเรื่องออกมา แต่สงวนสิทธิที่จะมาดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย โดยยื่นเรื่องต่อองค์กรอิสระต่างๆ
"การที่คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เห็นชอบเสนอแต่งตั้งนายประภัสร์เป็นผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้นเป็นคำสั่งและมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขณะสมัครนายประภัสร์มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน" นายนคร กล่าว
โดยขณะนั้นนายประภัสร์ยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ซึ่งเข้าข่ายเป็นข้าราชการการเมือง ที่กฎหมายกำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้สมัคร อีกทั้งนายประภัสร์ยังไม่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารในกิจการขององค์กรจนมีกำไรไม่น้อยกว่าปีละ 5 พันล้านบาท ตามที่กฎหมายกำหนดเป็นคุณสมบัติการลงสมัคร
"ที่นายประภัสร์อ้างว่าเคยเป็นผู้บริหารรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และมีผลงานการดำเนินงานโดยมีรายได้ช่วงปี 2548-2549 รวม 9,600 ล้านบาทเศษนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวนายประภัสร์มิได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย แต่มีตำแหน่งเพียงที่ปรึกษาการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเท่านั้น" นายนคร กล่าว
ดังนั้นตนเองจึงได้มายื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบและดำเนินการ ซึ่งก่อนหน้านี้ทราบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ได้มีการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลาง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้ว เพื่อที่จะได้ช่วยกันดำเนินการตรวจสอบความโปร่งใสเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด
ด้านนายรักษเกชา กล่าวว่า จะเร่งตรวจสอบคำร้องและเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา แต่เบื้องต้นหากเรื่องนี้มีการร้องต่อศาลปกครองแล้ว กฎหมายกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องหยุดพิจารณาหรือไม่รับคำร้องจนกว่าศาลจะพิจารณาแล้วเสร็จ แต่ทั้งนี้จะตรวจสอบก่อนว่าประเด็นที่มีการยื่นต่อศาลเป็นเรื่องเดียวกับที่ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่