กอ.รมน.ขอประเมินสถานการณ์ก่อนลดระดับกฎหมายดูแลภาคใต้-เพิ่มมาตรการดูแลครู

ข่าวการเมือง Friday November 30, 2012 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวภายหลังร่วมประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงโครงสร้างการทำงาน และเรื่องการต่ออายุประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ในพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา

ขณะเดียวกันก็ได้พูดคุยในเรื่องแผนงานที่มีอยู่เดิมแล้ว อาทิ พื้นที่ใดที่เคยมีการใช้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ ได้แก่ กฎอัยการศึก, พ.ร.บ.มั่นคงฯ และ พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งหากพื้นที่ใดสถานการณ์หนักอยู่ก็ต้องใช้กฎอัยการศึกคู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากสถานการณ์เบาลงก็จะลดจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็น พ.ร.บ.มั่นคงฯ เพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อการแสวงหาทางออก ในการใช้มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ที่ว่าด้วยการเปิดโอกาสให้กลับใจเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินว่าพื้นที่ใดควรปรับลดระดับความเข้มข้นของกฎหมายหรือไม่ แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ เพราะอาจทำให้มีการก่อเหตุขึ้นอีก แต่หากในระยะเวลาที่เราประเมิน 6 เดือนถึง 1 ปีไม่มีเหตุการณ์หรือลดน้อยลงจนเกือบไม่มีเลย ก็จะลดระดับการใช้กฎหมายลงได้

"การเลิกใช้กฎหมายทำได้ง่าย แต่การประกาศใหม่ทำได้ยาก ต้องให้เจ้าหน้าที่เป็นคนประเมิน ปีที่ผ่านมามีคดีเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ทั้งหมด 9,000 กว่าคดี แต่เป็นคดีความมั่นคงเพียง 1,000 พันกว่าคดี ที่เหลือเป็นอาชญกรรมทั่วไป ตรงนี้เป็นข่าวดีที่แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงและโจรลดลง แต่อีกด้านกำลังเจ้าหน้าที่ก็กลับถูกลดลงเช่นกัน และใช้กฎหมายที่อ่อนลง เพราฉะนั้นหากเหตุการณ์ไม่ลด แต่กลับลดอำนาจเจ้าหน้าที่ หากเกิดเรื่องใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ" ผบ.ทบ. กล่าว

สำหรับมาตรการการดูแลครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ตกเป็นเป้าการก่อเหตุรุนแรง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ง่ายที่สุดคือ ให้ครูทั้งหมดมาอยู่รวมกัน ให้เจ้าหน้าที่ดูแลทั้งหมด แต่ก็เป็นไปไม่ได้ ก็ต้องอยู่กระจายออกไป ซึ่งก็ต้องมีการประสานกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่ดูแลในพื้นที่ให้ชัดเจนว่าจะไปไหนอย่างไร ทั้งนี้จากการพูดคุยสิ่งใดที่ฝ่ายครูต้องการ ทางเจ้าหน้าที่ก็ปรับเพิ่มให้ บางสิ่งไม่สามารถทำได้ก็ขอความร่วมมือกัน

"จำเป็นต้องปรับกันใน 3 ข้อหลักคือ 1.การทำงานของเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจและพลเรือน 2.การติดกล้องวงจรปิดที่ยังไม่เรียบร้อยดี และ 3.เรื่องของการดูแลสวัสดิภาพ สิทธิของครู"ผบ.ทบ. กล่าว

สำหรับการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.)พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะมีการเรียกประชุมเพื่อหารือกันอีกครั้งในเรื่องการทำงานที่จังหวัดชายแดนใต้

ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการปรับอัตรากำลัง แผนปฏิบัติการให้พื้นที่ต่างๆ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติกำลังพลปฏิบัติงานในพื้นที่เพิ่มเติม 3,000 นาย ที่จะประจำการในเดือนพ.ค.จากที่มีกำลังอยู่ในพื้นที่กว่า 10,000 นาย

ผบ.ตร.ยังยืนยันถึงแนวทางการควบคุมผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยามว่า ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ตามหลักสากลที่ต้องใช้แก๊สน้ำตาก่อนการฉีดน้ำ เพื่อยับยั้งการรุกล้ำของประชาชนที่พยายามเข้ามายังพื้นที่บริเวณสะพานมัฆวานฯ ซึ่งการควบคุมมวลชนนอกจากขั้นตอนต่างๆแล้ว ยังมีปัจจัยในเรื่องของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย เพราะเห็นว่าผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก และพยายามเข้ามาในพื้นที่ที่ได้ประกาศเป็นเขตต้องห้ามตามพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในการควบคุมพื้นที่ ยานพาหนะ และอาวุธ

ทั้งนี้เห็นว่าผู้ชุมนุมไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาชุมนุมผ่านทางพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้ตรึงกำลังไว้ เพราะได้จัดทางเข้าออกที่เหมาะสมไว้ให้แล้ว

ส่วนเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่จับกุมและทำร้ายสื่อมวลชนทั้งที่ได้แสดงตัวนั้น ผบ.ตร. ยืนยันว่าเป็นเหตุชุลมุน ไม่ได้เป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ ซึ่งในอนาคตอาจมีการหารือแนวทางจัดทำสัญลักษณ์แยกสื่อมวลชนกับเจ้าหน้าที่ โดยในสัปดาห์หน้าจะเชิญนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเข้าพูดคุย รวมถึงจะมีการสอบสวนกรณีที่เจ้าหน้าที่ลากผู้ชุมนุมเข้าไปรุมทุบตีก่อนจับกุมด้วย และในส่วนของการชุมนุมรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้นต้องติดตามกันต่อไป

สำหรับเรื่องการถ่ายทอดสดการควบคุมการชุมนุมที่ไม่มีตามที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี สัญญาไว้นั้น พล.ต.อ.อดุลย์ ตอบเพียงว่ามีการถ่ายทอดสดรายการข่าวผ่านทางสถานีโทรทัศน์ต่างๆ แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ