สำหรับต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมไทยมีปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ในปัจจุบัน ร้อยละ 62.9 ระบุว่าคือ นักการเมืองระดับชาติ (สส. สว.) รองลงมาร้อยละ 57.5 ระบุว่าคือ นักการเมืองท้องถิ่น (อบต. อบจ. สก. สข.) และร้อยละ 50.1 ระบุว่าคือ ตัวกฎหมายมีช่องโหว่ล้าสมัย
ส่วนความเห็นต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 64.2 เห็นว่าให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 35.8 ให้ความสำคัญค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่าพอใจต่อการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลชุดปัจจุบันมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 69.9 พอใจค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 30.1 พอใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
เมื่อถามว่า “หากการมีนโยบายประชานิยมของรัฐบาลต้องมาพร้อมกับการทุจริตคอร์รัปชั่นแล้ว ยังต้องการนโยบายดังกล่าวหรือไม่" คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 79.1 ระบุว่าไม่ต้องการ ขณะที่ร้อยละ 20.9 ระบุว่าต้องการ
สำหรับโครงการของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดอันดับแรกคือ โครงการรับจำนำข้าว (ร้อยละ 51.8) รองลงมาคือ โครงการฟื้นฟูภัยพิบัติและบริหารจัดการน้ำ (ร้อยละ 19.3) และโครงการแท็บเล็ต ป.1 (ร้อยละ 8.9)
สุดท้ายเมื่อถามว่า “หากประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ จะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของต่างประเทศมากน้อยเพียงใดหากมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)" คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 83.7 เห็นว่าค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 16.3 เห็นว่าค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
ส่วนนักการเมืองไทยในปัจจุบันที่มีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์สุจริตมากที่สุดอันดับแรกคือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ร้อยละ 35.0) รองลงมาคือ นายชวน หลีกภัย (ร้อยละ 32.3) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ร้อยละ 14.6)