พรรคร่วมฯเดินหน้าแก้รธน.ให้ปชช.ร่วมยกร่าง ส่งรายงานคืบหน้าพรุ่งนี้

ข่าวการเมือง Monday December 10, 2012 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เพื่อให้สังคมได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรมเป็นประชาธิปไตย ค้ำประกันหลักนิติรัฐ นิติธรรม มีสันติสุขและความมั่นคง พรรคร่วมรัฐบาลจึงขอประกาศเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันพิทักษ์รักษา ส่งเสริม สนับสนุน และธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ จะต้องมีที่มาจากประชาชน โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทำตั้งแต่ยกร่างจนถึงการให้ความเห็นชอบ รัฐธรรมนูญต้องมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของทุกองค์กรอย่างเต็มที่ มีการปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้านนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะเลขานุการคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 กล่าวว่าคณะทำงานพรรคร่วมฯ ได้จัดทำรายงานความคืบหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบสมบูรณ์แล้ว และจะส่งให้พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาในวันพรุ่งนี้ จึงจะมีการกำหนดท่าทีที่ชัดเจนอีกครั้ง

ทั้งนี้การประชุมพรรคร่วมรัฐบาลในการประกาศเจตนารมณ์วันรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายสันตศักย์ งามพิเชษฐ์ ตัวแทนพรรคพรรคพลังชล นายประเสริฐ บุญชัยสุข ส.ส.นครราชสีมา ตัวแทนพรรคชาติพัฒนา และนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2475 นั้น จนถึงขณะนี้ ประเทศไทยได้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดมาครบ 80 ปี

รัฐธรรมนูญ 18 ฉบับที่ได้มีการประกาศใช้มา มีเพียงไม่กี่ฉบับเท่านั้นที่พอจะถือได้ว่ามาจากประชาชนและแม้จะเป็นฉบับประชาชน ในที่สุดก็ถูกฉีกทิ้งโดยคณะรัฐประหาร ดังเช่นกรณีของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนี้คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ก็เป็นผลพวงโดยตรงของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ซึ่งแม้จะมีการอ้างว่ามาจากการออกเสียงประชามติก็ตาม แต่การออกเสียงประชามติดังกล่าวก็เป็นไปในลักษณะบีบบังคับว่า ถ้าหากประชาชนไม่รับ คณะรัฐประหารสามารถนำเอารัฐธรรมนูญในอดีตที่เคยมี มาปรับปรุงแก้ไขแล้วใช้บังคับต่อไปได้ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นแบบกึ่งเผด็จการหรือเผด็จการ จึงเป็นที่ปรากฏชัดเจนต่อสังคมว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักนิติรัฐ นิติธรรม ไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมือง ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งการได้มาซึ่งบุคคลในองค์กรอิสระต่างๆ ก็ขาดการเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ ยังมีการนิรโทษกรรมให้แก่คณะรัฐประหารและรับรองการประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหาร ตลอดจนการปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับประกาศและคำสั่งดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันเป็นการขัดต่อความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเองและขัดต่อหลักนิติธรรมโดยชัดแจ้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ