ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งข้อกล่าวหามีความผิดปกติ เพราะมีความพยายามที่จะเบี่ยงเบนว่าการกระทำของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ไม่ได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น
ซึ่งมองว่าการกระทำดังกล่าวของดีเอสไอพยายามจะตัดตอนที่จะเลี่ยงกฎหมายเรื่องกระบวนการพิจารณาที่ DSI จะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อในฐานะที่เป็นนักการเมือง แต่ DSI กลับไม่ระบุในข้อกล่าวหาว่าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการสั่งการภายใต้อำนาจของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีทั้งที่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวในเรื่องการสลายการชุมนุมเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่จะระงับความรุนแรงในกรณีมีการเผาบ้านเผาเมืองเกิดขึ้น เพราะหากไม่ใช้อำนาจในการดำเนินการก็อาจจะเกิดความรุนแรงขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธ จึงจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธในการควบคุมสถานการณ์ ซึ่งตามกฎหมายอาญา มาตรา 68 ระบุว่าเป็นการป้องกันเหตุร้ายที่สมควรแก้เหตุ ซึ่งไม่เป็นความผิด แต่การที่ DSI พยายามจะเบี่ยงเบนกระบวนการที่จะไม่ให้เรื่องไปถึง ป.ป.ช. ส่อว่าเป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิด ซึ่งผู้ที่กระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้เคยมีตัวอย่างมาแล้ว เช่น กรณีของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ช่วยระบอบทักษิณจนถึงขั้นติดคุกมาแล้ว ซึ่งหาก DSI ดำเนินการเช่นนี้มีความผิดตามมาตรา 200 ซึ่งมีโทษถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต
นอกจากนี้ ในส่วนของเงื่อนไข 4 ข้อในการประกันตัวที่ DSI กำหนดขึ้นมาเพื่อให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเซ็นรับเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อ แต่ทั้งสองปฏิเสธที่จะลงนามรับเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งขึ้นอยู่กับ DSI ว่าจะมีดุลพินิจอย่างไรหลังจากสอบสวนบุคคลทั้งสองแล้ว เนื่องจากกฏหมายกำหนดให้สามารถควบคุมตัวได้เท่าที่จำเป็น และบุคคลทั้งสองก็ไม่ได้หลบหนี และเข้ามามอบตัวตามหมายเรียก