ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า รัฐบาลโหมกระแสเปิดประเด็นลงมติวาระ 3 ในช่วงหลัง 5 ธ.ค.55 ว่าจะดำเนินการทันทีหลังเปิดสมัยประชุม หลังจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สั่งให้มีการทำประชามติก่อน และเมื่อมีการเปิดประเด็นเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 165 หรือแก้กฎหมายประชามติ คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลออกมาปฏิเสธว่า จะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการทำประชามติ แต่เวลาไล่เลี่ยกันหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกลับเปิดช่องว่า สมาชิกรัฐสภาอาจเสนอให้มีกฎหมายเฉพาะในการออกเสียงประชามติหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา165 เพิ่มเติมได้ จึงเห็นได้ว่ารัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางดำเนินการโดยตลอด จึงไม่อาจวางใจได้ว่ารัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมา
"ผมอยากเรียนไปยังรัฐบาลว่าควรดำเนินการเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะประชามติหรืออะไรก็ตามต้องตรงไปตรงมา อย่าสับขาหลอก และควรเลือกแนวทางที่ทำให้บ้านเมืองมีปัญหาน้อยที่สุด ถ้ารัฐบาลยังสับสนทำให้คนรู้สึกว่าไม่ตรงไปตรงมา รัฐบาลก็เป็นคนเพิ่มปัญหาให้บ้านเมือง"นายองอาจ กล่าว
ส่วนการที่ นายพีรพันธ์ พาลุสุข สส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ระบุว่า การลงประชามติไม่มีผลผูกมัดต่อสภา เพราะเสียงข้างมากในรัฐสภาจะเดินหน้าลงมติวาระ 3 ได้เพราะเป็นดุลยพินิจของสมาชิกรัฐสภาที่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้นั้น หากรัฐบาลยังมีแนวคิดเช่นนั้น ถือว่าการทำประชามติสูญเปล่า ดังนั้นรัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าเมื่อประชามติออกมาอย่างไร
สำหรับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ และต้องทำให้ทุกเรื่องที่สังคมยังคลางแคลงใจคลี่คลายเพื่อให้เกิดข้อยุติ ไม่ให้เกิดเงื่อนไขใหม่อีก