ทั้งนี้ จากที่ได้ทำการศึกษาพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติในมาตรา 9 สรุปว่า การทำประชามติที่ถือว่าผ่าน จะต้องมีคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ที่มาออกเสียงลงคะแนนจริง ยกตัวอย่างเช่น หากมีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติได้ 46 ล้านคน จะต้องมีผู้มาลงคะแนนใช้สิทธิ์ไม่น้อยกว่ากึ่งซึ่งหมายถึง 23 ล้านคน และในจำนวน 23 ล้านคนนี้จะต้องมีคะแนนเสียงที่เห็นด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งของจำนวนผู้ที่มาลงคะแนนใช้สิทธิ์ ซึ่งเท่ากับว่าตามที่ประชามติจะผ่านได้นั้นต้องมีผู้ลงคะแนนเสียงด้วยเกินกว่า 11.5 ล้านคนขึ้นไป
นายณัฐวุฒิ ยังแสดงความเห็นกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มีความพยายามจะล้มการทำประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขอให้นายอภิสิทธิ์คำนึงถึงหลักกฎหมายเป็นสำคัญ อย่ากระทำการที่หวังแต่ผลทางการเมืองเพียงอย่างเดียว เพราะหากการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายอาจทำให้มีผู้มายื่นเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบนิติกรรมของนายอภิสิทธิ์ได้
"คนในพรรคประชาธิปัตย์ควรจะให้สติคุณอภิสิทธิ์ เพราะหลังจากตกเป็นผู้ต้องหาแล้วดูเหมือนการแสดงคงวามเห็นของคุณอภิสิทธิ์จะออกห่างหลักการของประชาธิปไตยมากขึ้นทุกที หากไม่ทำให้สติของคุณอภิสิทธิ์เข้าที่พรรคประชาธิปัตย์อาจจะต้องเข้ารกเข้าพง"นายณัฐวุฒิ กล่าว
นายณะฐวุฒิ กล่าวต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อคนเพียงคนเดียวหรือทำเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีตามที่มีผู้กล่าวหาแน่นอน เพราะการทำประชามติที่จะมีขึ้นทั้งก่อนและหลังการแก้ไขรัฐรัฐธรรมนูญนั้นจะมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ซึ่งภายใต้ขั้นตอนดังกล่าวไม่มีช่องทางหรือขั้นตอนใดๆ ที่จะทำให้เสียงของคนส่วนใหญ่ทำเพื่อคนเพียงคนเดียว