การประชุมอาเซียน-อินเดีย สมัยพิเศษจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย (20th Anniversary of the ASEAN —India Dialogue Partnership) ที่เริ่มต้นในลักษณะคู่เจรจาเฉพาะเมื่อปี 2535 และยกระดับเป็นคู่เจรจาอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 2538 ภายใต้หัวข้อการประชุม ASEAN-India Partnership for Peace and Shared Prosperity ซึ่งจะเป็นการประชุมเต็มคณะ
นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรม ASEAN-India Car Rally 2012 เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 20 ปี ความสัมพันธ์ อาเซียน-อินเดีย จุดเริ่มต้นที่ เมืองยอกยอการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ผ่านประเทศอาเซียน 10 ประเทศและสิ้นสุดที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย
ทั้งนี้ ผู้นำอาเซียน-อินเดียจะใช้โอกาสนี้ร่วมกันทบทวนความร่วมมือที่ผ่านมา เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต และร่วมรับรองเอกสาร ASEAN-India Vision Statement ที่จะประกาศวิสัยทัศน์ต่อทิศทางความสัมพันธ์ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการต่อยอดความร่วมมือทั้งด้านการค้าและการลงทุน ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของอินเดียในสาขาสำคัญ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ การแพทย์ การศึกษา ภาษาอังกฤษ การส่งเสริมบทบาทเชิงสร้างสรรค์ด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค และให้อินเดียสนับสนุนอาเซียนในการผลักดันประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันในเวทีโลก
ส่วนของประเทศไทยที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะศูนย์กลาง เชื่อมโยงอาเซียนกับอินเดียในลักษณะ Land Bridge และร่วมมือในกรอบความร่วมมือต่างๆ ทั้ง BIMSTEC Mekong-Ganga และการใช้ประโยชน์สูงสุดจากความตกลง FTA อาเซียน-อินเดีย พร้อมทั้งสนับสนุนบทบาทภาคเอกชนสองฝ่ายในการขยายการค้าและการร่วมลงทุน
โอกาสเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนการเยือนสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค.55 นี้ ซึ่งเป็นไปตามคำเชิญของนางชีค ฮาลินา (Sheikh Hasina) นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ และยังเป็นการร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างกันในปีนี้
ไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ต่อบังกลาเทศในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา(Partner for Development Cooperation) เพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าอีกหนึ่งเท่าตัวภายในปี 2559 เสริมสร้างโอกาสการค้าและการลงทุนของไทยในบังกลาเทศในสาขาสำคัญ คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน การค้าสินค้าอุปโภคบริโภค และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และส่งเสริมความร่วมมือกับบังกลาเทศในการเชื่อมโยง (connectivity) ระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียใต้ โดยใช้ประโยชน์จากท่าเรือน้ำลึกทวายและท่าเรือระนอง เชื่อมโยงกับท่าเรือจิตตะกอง รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนใช้บังกลาเทศเป็นฐานการผลิตสินค้าไปยังตลาดเอเชียใต้อื่น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีภารกิจสำคัญทั้งการหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ เป็นสักขีพยานการลงนาม 2 ฉบับ คือ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตร และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยและบังกลาเทศ และพบปะกับภาคเอกชนไทยและบังกลาเทศด้วย