สำหรับหลักเกณฑ์ที่ประชาชนใช้ในการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 49.16 จะลงมติตามความรู้สึกนึกคิดของตนเองว่าควรแก้หรือไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ รองลงมา ร้อยละ 39.47 จะลงมติตามความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาหรือประเด็นของรัฐธรรมนูญ และอีกร้อยละ 2.88 จะลงมติตามคนอื่น เช่น ญาติพี่น้อง เพราะยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ในการแก้ไขและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 56.61 ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการใช้งบประมาณที่มากเกินไป ควรเอาไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ มากกว่า ขณะที่ร้อยละ 28.66 เห็นด้วย เพราะถ้าสามารถทำให้ความวุ่นวายทางการเมืองหรือความขัดแย้งต่างๆ จบลง
เมื่อถามถึงความคุ้มค่ากับการที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น พบว่า ประชาชน ร้อยละ 54.52 ระบุว่าไม่คุ้มค่า เพราะเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองมากกว่า และสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน รองลงมา ร้อยละ 25.78 ระบุว่าคุ้มค่า เพราะเป็นการทำเพื่อประเทศชาติ ทำให้เกิดความสงบในบ้านเมือง ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้เกิดความขัดแย้งไม่จบไม่สิ้น
โดยท้ายสุดประชาชน ร้อยละ 67.57 คาดว่าน่าจะมีการทุจริตหรือความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น หากมีการทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเพียงร้อยละ 15.05 ที่คาดว่าไม่น่าจะมีการทุจริตหรือความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,226 ตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษาและกลุ่มอาชีพ โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคม 2555