"ประชา"ห่วงเสียงประชามติไม่พอแต่ไม่แก้ กม.เอื้อ,คาดใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี

ข่าวการเมือง Saturday December 22, 2012 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ยอมรับเป็นห่วงเรื่องคะแนนเสียงสนับสนุนการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะทำงานจะประชุมนัดแรก 24 ธ.ค.นี้ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปราวปลายเดือน ม.ค.56 พร้อมยืนยันจะไม่มีการแก้กฎหมายลดการใช้สิทธิ์ออกเสียงตามที่เป็นข่าว

"กรอบเวลามีคร่าวๆ แล้ว ปลายๆมกราฯ น่าจะได้ข้อสรุป คณะทำงานจะเริ่มประชุมกันวันที่ 24 ธันวาคมนี้" พล.ต.อ.ประชา กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน

พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า คณะทำงานศึกษาแนวทางการทำประชามติ หรือประชาเสวนาที่คณะรัฐมนตรีตั้งขึ้นจะเป็นทางออกที่อธิบายสู่ประชาชนได้ดีที่สุด และเป็นตัวชี้วัดความคิดเห็นของเสียงข้างมากว่าเป็นไปในทิศทางใด หากได้ข้อยุติแล้วก็อยากให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยยอมรับ โดยคณะทำงานจะทำหน้าที่ 3 ส่วน คือ ศึกษาความก้าวหน้า รับทราบการออกเสียงประชามติ และศึกษาข้อกฎหมาย ซึ่งจะใช้เวลาหารือประมาณ 3-4 สัปดาห์ ส่วนสาเหตุที่ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมาไม่เห็นชอบแนวทางการทำประชามติทันที เพราะต้องดูข้อกฎหมายให้มีความรัดกุม เพื่อลดข้อทักท้วง โดยจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ

"ก็เป็นห่วง แต่ไม่มีการแก้กฎหมายเพื่อลดการใช้สิทธิ์ แต่จะดำเนินการให้ประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องทำประชาเสวนาคู่กันไป" พล.ต.อ.ประชา กล่าว

ด้านนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งราว 60-70% ดังนั้นการรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาใช้สิทธิเกิน 50%(23 ล้านคน) ก็ดูจะเป็นเรื่องยากพอสมควร ประกอบกับมีแนวโน้มที่ฝ่ายคัดค้านจะออกมารณรงค์ไม่ให้ออกมาใช้สิทธิ์ และเห็นด้วยที่จะใช้กฎหมายเดิม เพราะจะเป็นจุดให้ฝ่ายที่คัดค้านนำไปขยายผลทางการเมือง ดังนั้นก็จะรณรงค์ให้ประชาชนออกมามีส่วนร่วมเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง

กรอบการประชุมของคณะทำงานในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ จะเป็นการหารือกันด้านข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งยังมีข้อสงสัยให้ได้ข้อยุติก่อน เช่น การทำประชามติตามมาตรา 165(1) และเรื่องกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวนเสียง เพื่อทำให้ชัดเจน และเหลือทางเลือกเดียวในข้อกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมให้ได้ข้อยุติภายใน 1 เดือน เพื่อเสนอกลับไปที่ ครม.หลังจากนั้นภายใน 4 เดือนก็จะได้ผลประชามติ หรือราวเดือน พ.ค.56 ก็เข้าสู่การลงมติของสภาฯ ในวาระ 3 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร.เข้ามาดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญใน 240 วัน

"คงไม่ถึงสองปี อาจจะอยู่ที่ปีเศษๆ หลังจากร่างเสร็จแล้วก็ต้องทำประชามติอีกครั้ง" นายวราเทพ กล่าว

นายวราเทพ กล่าวว่า หลังจากมีการกำหนดหัวข้อในการทำประชามติแล้ว อยากให้มีการรณรงค์ให้มีคนออกมาใช้สิทธิ์มากกว่างดออกเสียง ส่วนจะรณรงค์เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยหรือนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพ เหมือนการเลือกตั้งที่ไม่อยากให้เกิดการนอนหลับทับสิทธิ์ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่เป็นไปตามกติกาในระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสม และลดความขัดแย้งในบ้านเมืองที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ