โดยมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย 1.การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้มีเงินได้ที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจในกรณีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการประกอบกิจการผลิตสินค้า การขายสินค้า หรือการให้บริการ ณ สถานประกอบกิจการนั้น 2.ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 3.ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และคงจัดเก็บในอัตรา 0.1% ของเงินได้ซึ่งเป็นราคาขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
4.กำหนดให้ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแล้ว ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48 (1) (2) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร 5.ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ และคงจัดเก็บในอัตรา 0.1% สำหรับรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร ทั้งนี้ เฉพาะการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 ม.ค.56 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.57
นอกจากนี้กระทรวงการคลัง เสนอให้อนุมัติการกำหนดเรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองห้องชุด 0.01% การโอนห้องชุดโดยการขาย แลกเปลี่ยน ให้ และการโอนโดยทางมรดกให้แก่ทายาท หรือการจำนองห้องชุดที่ตั้งอยู่ในท้องที่ จ.นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, 4 อำเภอ จ.สงขลา ตั้งวันที่ 1 ม.ค.56 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.57
กระทรวงการคลัง เสนอให้ต่ออายุมาตรการชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัย ภายใต้วงเงินงบประมาณปีละ 20 ล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค.55 โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ดำเนินการต่อปีอีก 2 ปี หรือสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.57
กระทรวงการคลัง ขอความเห็นชอบมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนโดยธนาคารออมสิน มีระยะเวลาการขอกู้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.56 ซึ่งที่ผ่านมาปริมาณการใช้สินเชื่อโดยเฉลี่ยภายใต้โครงการดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 60-70% ของวงเงินโครงการทั้งสิ้นจำนวน 25,000 ล้านบาท และให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งใช้วงเงินที่เหลือให้เต็มวงเงินก่อน
ส่วนความคืบหน้าการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ คาดว่านายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หนึ่งในคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติฯ ที่ ครม.ตั้งขึ้นจะรายงานความคืบหน้าที่ได้ประชุมกันไปวานนี้ โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพจัดทำประชามติ ต้องติดตามว่าจะมีรัฐมนตรีคนใดท้วงติงหรือไม่ โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ค้านแนวคิดดังกล่าว หรือจะหนีความขัดแย้งด้วยการเลี่ยงเข้าประชุม ครม.อีกครั้ง