ในรอบปี 2555 นับเป็นปีที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองรอบโลกค่อนข้างมาก โดยมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อทิศทางทางการเมืองและนโยบายต่างๆในการขับเคลื่อนประเทศ In Focus ในสัปดาห์นี้ จะขอย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งครั้งสำคัญๆที่ทั่วโลกต่างก็จับตาด้วยความคาดหวังและความลุ้นระทึกในปีนี้
เลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในพม่า และการกลับมาของ “ซูจี"
การเลือกตั้งในพม่าที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 แม้จะเป็นเพียงแค่การเลือกตั้งซ่อม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อภาพลักษณ์และบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเอ่ยถึงพม่า ก็คงต้องนึกถึงภาพของรัฐบาลทหารเผด็จการที่รวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ยี่หระต่อการทักท้วงหรือเสียงประณามจากนานาชาติมาเป็นเวลานานถึงกึ่งศตวรรษ
ผลการเลือกตั้งซ่อมในเดือนเมษายนของพม่าออกมาอย่างโปร่งใส โดยพรรคฝ่ายค้าน คือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางออง ซาน ซูจี หญิงเหล็กที่เป็นไอดอลในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่านั้น ได้คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย โดยกวาดที่นั่งไปได้ 43 ที่นั่ง จากจำนวน 45 ที่นั่ง ขณะที่พรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ของรัฐบาลทหารพม่า พ่ายแพ้ยับเยิน โดยคว้ามาได้เพียง 1 ที่นั่ง แต่ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้สมัครจากพรรค NLD ถูกตัดสิทธิลงเลือกตั้งเพราะขาดคุณสมบัติ
แม้ว่าชัยชนะของพรรค NLD ในครั้งนี้อาจจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อรัฐสภาของพม่า เมื่อพิจารณาจากสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้งหมดจำนวน 664 ที่นั่ง ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเป็นคนจากพรรค USDP แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้นางซูจี และพรรค NLD เข้าไปมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น และนับเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนพม่าไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังเกรงว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสถานการณ์การเมืองในพม่าครั้งนี้ อาจจะไม่ใช่เพราะรัฐบาลทหารพม่ายอมรับฟังเสียงของพลังประชาชนหรือยอมอ่อนข้อต่อนางซูจี แต่รัฐบาลทหารอาจหวังใช้ประโยชน์จากภาพลักษณ์ของนางซูจีเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การบริหารประเทศของรัฐบาลทหาร ในห้วงเวลาที่พม่าเริ่มมีการเปิดประเทศสู่ประชาคมเศรษฐกิจโลก
ทั่วโลกอาจจะยังต้องจับตาสถานการณ์ความคืบหน้าทางการเมืองในพม่าต่อไปว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ตลอดจนการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดจะมีขึ้นในปี 2558 ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า พรรคฝ่ายค้านจะได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นเช่นเดียวกับการเลือกตั้งซ่อมในปีนี้
กรีซเลือกตั้ง 2 รอบในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน!!!
ช่วงปี 2555 นับได้ว่า กรีซมีอาการสาหัสพอควรกับการเผชิญวิกฤตหนี้สิน อันนำมาสู่ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่ล้วนแต่สั่นคลอนเสถียรภาพของประเทศและการดำรงสถานภาพสมาชิกยูโรโซนของกรีซ
หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ปรากฏผลออกมาว่า ไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากพอที่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น การหารือระหว่างผู้นำพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากลำดับต้นๆเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ก็ประสบกับความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลรักษาการเมื่อกลางเดือนพ.ค. พร้อมทั้งกำหนดวันเลือกตั้งรอบใหม่ในวันที่ 17 มิ.ย.
ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พ.ค.นั้น จากจำนวนทั้งหมด 300 ที่นั่ง พรรคนิว เดโมเครซี ครองที่นั่งมากที่สุด 108 ที่นั่ง พรรค Syriza ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายจัด ได้ 52 ที่นั่ง ส่วนพรรค Pasok รั้งอันดับ 3 ด้วย 41 ที่นั่ง
ประเด็นหลักที่ทำให้พรรคการเมืองต่างๆไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ก็คือความเห็นต่างเกี่ยวกับข้อตกลงรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องมีเงื่อนไขเป็นข้อผูกมัดเพื่อแลกกับเงินกู้ ที่จะช่วยให้กรีซสามารถนำไปใช้จ่าย ชำระหนี้สินเพื่อรอดพ้นจากภาวะผิดนัดชำระหนี้
นักลงทุนทั่วโลกต่างก็จับตาดูการเลือกตั้งของกรีซรอบ 2 ของกรีซอย่างใจจดใจจ่อ เนื่องจากเกรงว่าหากชาวกรีซเทคะแนนให้กับพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงเดิมที่ทำไว้กับองค์กรระหว่างประเทศ ก็จะเป็นการบั่นทอนสถานภาพของกรีซในการที่จะเป็นสมาชิกร่วมใช้สกุลเงินยูโรต่อไป และจะก่อความวุ่นวายซ้ำเติมปัญหาหนี้สินเดิมของกรีซที่ย่ำแย่อยู่แล้ว
พรรคนิว เดโมเครซี ภายใต้การนำของนายอันโตนิส ซามาราส เป็นพรรคอนุรักษ์นิยมของกรีซที่สนับสนุนมาตรการรัดเข็มขัดตามเงื่อนไขในการรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ขณะที่พรรค Syriza เป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่มีนายอเล็กซิส ซิปราส เป็นหัวหน้าพรรค โดยเป็นพรรคที่มีความเห็นต่างอย่างรุนแรงในการคัดค้านแผนรัดเข็มขัดตามข้อตกลงที่รัฐบาลชุดก่อนได้ทำไว้ ส่วนพรรค Pasok เป็นพรรคสังคมนิยมที่มีนายอีแวนเจลอส เวนิเซลอส อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกรีซ นั่งแท่นเป็นผู้นำพรรค โดยพรรค Pasok สนับสนุนการควบคุมรายจ่ายและปรับลดงบประมาณตามข้อตกลงเงินกู้ที่ทำไว้กับนานาประเทศ
ผลการเลือกตั้งรอบ 2 ปรากฎว่า พรรคนิว เดโมเครซีคว้าชัยชนะเหนือพรรคคู่แข่ง ด้วยจำนวนที่นั่ง 129 ที่นั่ง จากทั้งหมด 300 ที่นั่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอตามข้อกำหนดขั้นต่ำกึ่งหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องเข้าเจรจากับพรรค Pasok และพรรคเดโมเครติก เลฟท์เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม
ดูเหมือนว่าทั่วโลกจะถอนหายใจด้วยความโล่งอก หลังจากที่ชาวกรีซตัดสินใจเลือกพรรคนิว เดโมเครซี ที่สนับสนุนแผนการรัดเข็มขัดตามที่ทำข้อตกลงไว้กับอียูและไอเอ็มเอฟ ซึ่งช่วยลดความเป็นไปได้ที่ว่ากรีซจะกระเด็นออกจากยูโรโซน แม้ว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่หมักหมมมานานของกรีซ แต่ก็สร้างความชัดเจนได้ในระดับหนึ่งเกี่ยวกับแนวทางที่รัฐนาวาของกรีซจะเดินหน้านำพาประเทศต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าในที่สุดนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานรัฐมนตรีคลังยูโรโซน หรือยูโรกรุ๊ป ได้ประกาศเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ยูโรกรุ๊ปได้อนุมัติการเบิกจ่ายเงินงวดใหม่จำนวน 4.91 หมื่นล้านยูโร (ราว 6.41 หมื่นล้านดอลลาร์) แก่กรีซ หลังจากที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน
หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระหว่างประเทศ ได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซสู่ระดับ B- โดยแนวโน้มมีเสถียรภาพ จากเดิมที่ "ผิดนัดชำระหนี้บางส่วน" โดย S&P ยืนยันว่ามีการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นของกรีซสู่ระดับ B และระยะยาวสู่ B- โดยอิงกับพันธสัญญาของรัฐบาลในการปรับปรุงด้านการคลังและเชิงโครงสร้างตามแนวทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีต่อทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองของกรีซในอนาคต ซึ่งเราคงจะต้องจับตาดูกันต่อไป
ศึกชิงทำเนียบขาวของพญาอินทรี...ที่ไม่มีสำนักไหนกล้าฟันธง!!!
ตลอดช่วงปีนี้เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา เพราะการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและกระบวนการเฟ้นหาตัวแทนของสองพรรคการเมืองใหญ่เพื่อลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ ได้เริ่มเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ช่วงต้นปีกันเลยทีเดียว
การเลือกตั้งในครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐที่ง่อนแง่นเต็มที และยังเผชิญกับวิกฤตหนี้และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประเด็นเศรษฐกิจจึงนับเป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียงสนับสนุนและในการโจมตีคู่ต่อสู้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งเป็นผู้แทนจากพรรคเดโมแครตที่จะชิงชัยเพื่อครองตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 2 และนายมิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน
นักวิเคราะห์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจริงหรือไม่ ขณะที่ชาวอเมริกันไม่ได้รู้สึกว่าฐานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาดีขึ้นกว่าเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้คิดว่าเศรษฐกิจเลวร้ายกว่าเดิม นั่นจึงทำให้การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้เป็นไปอย่างคู่คี่สูสี เนื่องจากประชาชนจำนวนมากที่มองว่าปธน.โอบามาบริหารเศรษฐกิจได้ย่ำแย่นั้น ก็ไม่ได้มีความมั่นใจเช่นกันว่านายรอมนีย์จะจัดการเศรษฐกิจของประเทศได้ดีกว่า นอกจากนี้ ยังมีชาวอเมริกันอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังเชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันมีต้นตอมาจากสมัยการบริหารงานของอดีตปธน.จอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่สังกัดพรรครีพับลิกันนั่นเอง
คะแนนนิยมในตัวโอบามาและรอมนีย์นับได้ว่าผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมาโดยตลอดจนกระทั่งถึงช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง นั่นก็คือการโต้วาทีแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร หรือที่เรียกว่าการดีเบต ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองของสหรัฐที่จัดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน นายรอมนีย์ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมในการดีเบตครั้งแรก โดยคว่ำโอบามาให้เสียกระบวนไปได้อย่างผิดคาด แต่โอบามาก็แก้เกม โดยพลิกกลับมาเรียกคะแนนนิยมคืนมาได้ในการดีเบต 2 ครั้งหลัง ถึงกระนั้นผลสำรวจความคิดเห็นจากสำนักต่างๆก็ยังไม่ได้ให้ใครเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะอย่างโดดเด่นชัดเจน
หากได้ติดตามสถานการณ์ในวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น ก็จะเห็นได้ว่าตัวแปรและจุดเปลี่ยนสำคัญก็คือคะแนนเสียงจากรัฐเรียกกันว่า battleground states หรือ swing states ซึ่งก็คือรัฐที่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะเทคะแนนเสียงให้พรรคใดพรรคหนึ่งอย่างแน่ชัด
ในช่วงแรกของการปิดหีบเลือกตั้งและเริ่มนับคะแนน ทั้งโอบามาและรอมนีย์ยังมีคะแนนไม่ทิ้งห่างกันมากนัก และดูเหมือนว่ารอมนีย์จะมีคะแนนนำโอบามาด้วยซ้ำ แต่เมื่อเริ่มมีการนับคะแนนในรัฐ swing states โอบามากลับโกยคะแนนนำรอมนีย์อย่างไม่เห็นฝุ่น จนไม่ต้องรอถึงการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โอบามาก็ออกมาแถลงประกาศชัยชนะในศึกชิงทำเนียบขาวครั้งนี้ ซึ่งตอกย้ำถึงบทบาทและความสำคัญของคะแนนเสียงจากกลุ่มรัฐ swing states
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ โอบามาสามารถคว้า electoral vote ไปได้ 332 คะแนน เทียบกับรอมนีย์ที่ได้ไป 206 คะแนน โดยในการเลือกตั้งของสหรัฐนั้น คะแนนเลือกตั้งจะมี 2 แบบ เรียกว่า popular vote กับ electoral vote การที่ประชาชนออกจากบ้านไปเลือกคณะผู้เลือกตั้ง ถือเป็น popular vote จากนั้น คณะผู้เลือกตั้งไปเลือกประธานาธิบดีอีกทอดหนึ่งเรียกว่า electoral vote
ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนน electoral vote เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 270 เสียง ของจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 538 เสียง
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปิดฉากลงด้วยชัยชนะอีกสมัยของปธน.โอบามา แต่ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ได้ปิดฉากลงตามไปด้วย แต่กลับมีความกดดันมากขึ้น ขณะที่เวลาเริ่มงวดเข้ามาทุกทีสำหรับโอบามาในการที่จะหารือกับสภาคองเกรสเพื่อบรรลุข้อตกลงในการเลี่ยงภาวะหน้าผาทางการคลัง หรือ fiscal cliff ให้ได้ก่อนสิ้นปีนี้ มิฉะนั้น สหรัฐจะเผชิญกับการปรับขึ้นภาษีและลดรายจ่ายโดยอัตโนมัติวงเงิน 6 แสนล้านดอลลาร์ในต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของมหาอำนาจอย่างสหรัฐถลำสู่ภาวะถดถอยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะสร้างความยินดีแก่ผู้ที่ได้รับชัยชนะ แต่ก็คงไม่อาจปฏิเสธภารกิจและหน้าที่อันหนักหน่วงที่รออยู่เบื้องหน้า แม้เส้นทางสายการเมืองของแต่ละประเทศอาจจะมีบริบทที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือเส้นทางสายนี้คงจะไม่ได้ราบเรียบ สวยหรูและโรยด้วยกลีบกุหลาบ ถึงกระนั้นก็จะเป็นบทพิสูจน์ถึงศักยภาพ ปฏิภาณไหวพริบของผู้นำไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านว่าจะสร้างผลงานให้เป็นที่พึงพอใจหรือจะสร้างความผิดหวังแก่ประชาชนที่ตัดสินใจลงคะแนนให้ ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยที่กำหนดอนาคตบนเส้นทางสายการเมืองต่อไปนั่นเอง...