นอกจากนี้ รัฐบาลต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อของกลุ่มพันธมิตรฯ คือ 1.ใช้โอกาสสุดท้ายที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(International Court of Justice) ได้กำหนดให้มีการนั่งพิจารณาคดี (public hearings) กรณีกัมพูชายื่นคำขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 ในวันจันทร์ที่ 15 เมษายน ถึงวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2556 ณ วังสันติภาพ (Peace Palace) ซึ่งเป็นที่ทำการของศาลฯ ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยขอเรียกร้องให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยประกาศอย่างเป็นทางการว่าราชอาณาจักรไทยถือว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีอำนาจในการตีความคดีนี้ และราชอาณาจักรไทยจะไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในการตีความในคดีความนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการตีความนั้นก่อให้เกิดผลเสียต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้ เพราะราชอาณาจักรไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว และเป็นที่รับทราบโดยปราศจากการคัดค้าน ทั้งจากราชอาณาจักรกัมพูชา และสมาชิกองค์การสหประชาชาติ อีกทั้งราชอาณาจักรไทยยังได้แถลงประท้วงไม่เห็นด้วย คัดค้านในคำตัดสินที่ผิดพลาดและอยุติธรรม จึงได้ตั้งข้อสงวนเอาไว้ในการทวงคืนปราสาทพระวิหารในอนาคตหากกฎหมายระหว่างประเทศพัฒนาขึ้น โดยคำแถลงครั้งนั้นไม่ได้มีประเทศสมาชิกในองค์การสหประชาชาติคัดค้านแต่ประการใด ประกอบกับราชอาณาจักรไทยก็ไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยบังคับ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505
2.เมื่อราชอาณาจักรไทยไม่รับว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจในการตีความแล้ว รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่ต้องถอนทหารหรือตำรวจตระเวนชายแดนออกจากแผ่นดินไทย และขอให้เร่งผลักดันชุมชนกัมพูชาให้ออกจากแผ่นดินไทย
ทั้งนี้ ได้ปรากฏเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนแล้วว่าตั้งแต่มีการก่อตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมามีประเทศคู่พิพาทให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 17 คดี แต่ศาลรับให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 10 คดี ผลปรากฏว่าจนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีประเทศใดปฏิบัติตามเลยแม้แต่ประเทศเดียว ซึ่งรวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนั้นคำสั่งดังกล่าวไม่มีสภาพบังคับแต่ประการใด และหากรัฐบาลไทยยินยอมปฏิบัติถอนทหารออกจากพื้นที่จะถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวทั้งๆ ที่มีชุมชุนกัมพูชารุกรานเข้ามาอาศัยอยู่บนแผ่นดินของราชอาณาจักรไทย
3.ให้รัฐบาลไทยเร่งฟื้นฟูและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับประเทศในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีประเทศใดเข้ามาใช้อำนาจในการละเมิดอธิปไตยของชาติ 4.อาศัยกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 2 วรรค 7 และให้รัฐบาลไทยยืนยันว่าสมาชิกสหประชาชาติไม่มีอำนาจในการแทรกแซงในเรื่องภายในอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย และให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยยืนยันตามข้อ 2 (ก) และ 2 (ง) แห่งกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่ารัฐสมาชิกอาเซียนจะต้องปฏิบัติตามหลักการในการเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน ตลอดจนไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน
5.รัฐบาลราชอาณาจักรไทยจะต้องไม่กลับเข้าไปเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกอีก
6.ให้รัฐบาลไทยหยุดการใช้นักวิชาการ 7.1 ล้านบาท ที่รับจ้างจากกระทรวงการต่างประเทศมาโฆษณาชวนเชื่อในสื่อของรัฐฝ่ายเดียว เพียงเพื่อให้คนไทยยอมจำนนกับการยกดินแดนไทยให้กับกัมพูชา เพราะนักวิชาการเหล่านี้มีจุดยืนอยู่ข้างฝ่ายกัมพูชา และควรเปิดพื้นที่สื่อให้กว้างขวางเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลจากผู้ที่ต้องการปกป้องอธิปไตยของชาติและไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลด้วย
7.ให้ช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ซึ่งถูกทหารกัมพูชาจับในแผ่นดินไทย แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับใส่ร้ายว่าถูกจับในแผ่นดินกัมพูชา โดยเร่งรัดดำเนินการให้ทั้ง 2 คนถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำกัมพูชาโดยเร็วที่สุด
นายปานเทพ กล่าวว่า ดังนั้น พธม.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่รับอำนาจศาลโลกและต้องไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ควรหันมาใช้กลไกคณะกรรมการร่วมเขตแดนไทย-กัมพูชา(เจบีซี)เท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลรับทราบข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว หากยังไม่ปฏิบัติตาม จะถือว่าสมรู้ร่วมคิดในการกระทำครั้งนี้ด้วย
พร้อมย้ำว่า การยื่นหนังสือเรียกร้องในวันนี้ของ พธม.ไม่ได้ทำไปตามอารมณ์ชั่ววูบ แต่ทำตามข้อคิดเห็นของ ดร.สมปอง สุจริตกุล ซึ่งเป็นทนายผู้ประสานงานคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ในคดีเขาพระวิหาร ทั้งนี้ พธม.จะรอดูการทำหน้าที่ของรัฐบาลจนถึงที่สุดก่อน หากรัฐบาลไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง พธม.จึงจะกำหนดมาตรการของตัวเองต่อไปในอนาคต หากมีประชาชนเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พธม.ก็พร้อมจะเดินหน้าทำการชุมนุมโดยทันทีในเวลาอันสมควร