"เมื่อจัดอันดับประเทศที่มีการส่งเสริมการลงทุนที่ดีและน่าสนใจ พบห้าอันดับแรก ได้แก่ ประเทศไทย ร้อยละ 27.1 อันดับสอง ได้แก่ สิงคโปร์ ร้อยละ 21.6 อันดับสาม ได้แก่ มาเลเซีย ร้อยละ 9.9 อันดับสี่ได้แก่ เวียดนาม ร้อยละ 8.8 และอันดับห้า ได้แก่ อินโดนีเซีย ร้อยละ 7.4" น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านนโยบายสาธารณะเพื่อกิจการอาเซียน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าว
หากมองเรื่องความง่ายในการเข้าถึงวัตถุดิบในการลงทุน หลังจัดอันดับพบว่า อันดับ 1 ไทย ได้ร้อยละ 24.4, อันดับ 2 อินโดนีเซีย ได้ร้อยละ 14.1, อันดับ 3 พม่า ได้ร้อยละ 10.2, อันดับ 4 เวียดนาม ได้ร้อยละ 10.1, อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ ได้ร้อยละ 9.5, อันดับ 6 กัมพูชา ได้ร้อยละ 7.9, อันดับ 7 มาเลเซีย ได้ร้อยละ 7.0, อันดับ 8 ลาว ได้ร้อยละ 6.6, อันดับ 9 สิงคโปร์ ได้ร้อยละ 5.8 และอันดับ 10 บรูไน ได้ร้อยละ 4.4
เรื่องประเทศที่มีความเพียงพอของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย ร้อยละ 27.0, อินโดนีเซีย ร้อยละ 11.2ล พม่า ร้อยละ 11.0, เวียดนาม ร้อยละ 9.7 และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 9.7
เรื่องประเทศที่มีคุณภาพของแรงงาน 3 อันดับแรก ได้แก่ ไทย ร้อยละ 25.2, สิงคโปร์ ร้อยละ 24.1 และมาเลเซีย ร้อยละ 10.5
เรื่องประเทศที่มีคุณภาพของสาธารณูปโภคพื้นฐาน 3 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ ร้อยละ 37.7, ไทย ร้อยละ 20.0 และบรูไน ร้อยละ 11.8
เรื่องประเทศที่มีคุณภาพและความสะอาดปลอดภัยด้านอาหาร 3 อันดับแรก ได้แก่ ไทย ร้อยละ 30.5, สิงคโปร์ ร้อยละ 25.3 และมาเลเซีย ร้อยละ 11.2
เรื่องประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี 3 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ ร้อยละ 30.6, ไทย ร้อยละ 19.9 และบรูไน ร้อยละ 11.4
เรื่องประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีโอกาสเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย ร้อยละ 23.3, สิงคโปร์ ร้อยละ 15.1, เวียดนาม ร้อยละ 10.5, พม่า ร้อยละ 10.3 และมาเลเซีย ร้อยละ 8.6
เรื่องประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ดีและน่าสนใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ ไทย ร้อยละ 36.5, สิงคโปร์ ร้อยละ 17.0 และมาเลเซีย ร้อยละ 11.3
เรื่องประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีความมั่นคงทางการเมือง 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ ร้อยละ 27.3, บรูไน ร้อยละ 18.4, มาเลเซีย ร้อยละ 11.6, ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 10.4 และไทย ร้อยละ 7.0
เรื่องประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ประชาชนท้องถิ่นมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี 3 อันดับแรก ได้แก่ ไทย ร้อยละ 33.4, สิงคโปร์ ร้อยละ 10.8 และลาว ร้อยละ 9.5
"ประเทศไทยกำลังเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่ชาวต่างชาติยังคงมองเห็นโอกาสและจุดแข็งหลายด้านในบรรยากาศการลงทุนในปี 2556 นี้ อย่างไรก็ตามจากการวิจัยเชิงลึกพบในกลุ่มชาวต่างชาติเหล่านี้ได้พบสองปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทยคือ เสถียรภาพทางการเมืองและปัญหาทุจริตคอรัปชั่น" น.ส.ปุณฑรีก์ กล่าว
ผู้ช่วยผู้อำนวยการเอแบคโพลล์ กล่าวว่า ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ระบุในทิศทางเดียวกันว่า ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยเป็นปัญหาเพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลส่งผลให้นโยบายที่เคยริเริ่มไว้เปลี่ยนแปลงไปด้วย ทำให้ขาดความต่อเนื่องและมีความเสี่ยงสูงต่อการค้าการลงทุน ในขณะเดียวกันชาวต่างชาติส่วนใหญ่มองว่า ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ถ้าตราบใดที่ประชาชนคนไทยอ่อนแอไม่มีกำลังต่อต้านมากพอ โดยสังคมไทยปล่อยให้มีการโกงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง กลุ่มคนที่รวมตัวกันต่อต้านก็เป็นแบบเฉพาะกิจ สลายตัวหรือเงียบไปได้อย่างรวดเร็ว ประเทศไทยก็ยากจะพัฒนาให้ดีไปกว่านี้ได้
"ถ้ารัฐบาลต้องการลดบทบาทขององค์กรอิสระในการตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาลลง รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นและความวางใจในหมู่ประชาชนก่อนว่ารัฐบาลโปร่งใส และเมื่อถึงเวลานั้น องค์กรอิสระจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แต่ในเวลานี้ ประชาชนจำนวนมากยังคงมีความเคลือบแคลงสงสัยต่อรัฐบาลและหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างกว้างขวาง องค์กรอิสระจึงยังจำเป็นไปอีกนาน" น.ส.ปุณฑรีก์ กล่าว
ทั้งนี้ เอแบคโพลล์ ได้จัดทำผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง โอกาสและจุดแข็งของประเทศไทยต่อบรรยากาศการลงทุนในอาเซียน ปี 2556 ในสายตาชาวต่างชาติ จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในกลุ่มประเทศอาเซียนจำนวนทั้งสิ้น 958 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10 ธ.ค.55- 8 ม.ค.56