นางเจิมมาศ กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐบาลบังคับใช้นโยบายนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นการผลิตที่สูงมาก จำเป็นต้องปิดโรงงานเพราะแบกรับภาระไม่ไหว หรือ ผู้ประกอบการที่ยังสามารถอยู่ได้แต่ก็ต้องตัดลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นของผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะการจัดสวัสดิการต่างๆ จนมีเสียงร้องเรียนออกมาว่าไม่ขอค่าแรง 300 บาทได้หรือไม่ ขอค่าแรงเท่าเดิมเพื่อขอให้การจัดสวัสดิการ
"ค่าอาหาร รถรับส่งฟรี เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเมื่อก่อนเคยมีแต่ตอนนี้ก็ต้องตัดหมด ถ้าคำนวณจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 300 บาทแต่ตัดสวัสดิการถือว่าสร้างภาระให้กับแรงงานที่ได้ค่าแรงก่อนหน้านี้ประมาณ 200 บาทแต่มีสวัสดิการ" นางเจิมมาศ กล่าว
นางเจิมมาศ กล่าวว่า ไม่มีใครตำหนิรัฐบาลที่ต้องทำนโยบายนี้เพราะเข้าใจว่าต้องทำตามสัญญาที่ได้หาเสียงเอาไว้ แต่เป็นการทำตามสัญญาที่ไม่รอบคอบ รัฐบาลมองเพียงด้านเดียวเท่านั้น นโยบายขายฝันของรัฐบาลจึงกลายเป็นฝันร้ายของประชาชน ทั้งนี้อยากให้ชี้แจงว่าทำไมกว่า 16 เดือนที่รัฐบาลดำรงตำแหน่งมาก่อนที่จะมีการบังคับใช้นโยบายทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ม.ค.56 ถึงไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อหามาตรการรองรับผลกระทบที่จะตามมาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ได้รับมอบหมายจากนายกิตติรัตน์ ให้มาชี้แจงแทน กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลมาเข้ารับหน้าที่เมื่อกลางปี 54 ประเทศต้องประสบปัญหากับน้ำท่วม ทำให้นโยบายบางนโยบายต้องเคลื่อนออกไป เพราะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการจากปัญหานี้รัฐบาลได้มีมาตรการออกมาแล้ว เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% และในปี56 จะเหลือ 20% เป็นต้น
นายทนุศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตามข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่าในปี 54 ที่ยังไม่มีมาตรการค่าแรง 300 บาท มีการขยายกิจการมากกว่า 500 ราย และปี 55 หลังจากมีนโยบายดังกล่าวออกมาก็พบว่าการขยายกิจการเพิ่มขึ้นมากกว่า 400 ราย ส่วนการเลิกกิจการในปี 54 มีการเลิกกิจการ 1,366 ราย ขณะที่ปี 2555 มี 1,310 ราย ดังนั้นแสดงให้เห็นว่านโยบายไม่ได้สร้างปัญหาและคงจะเป็นการบอกที่เร็วเกินไปว่าในปี 56 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือบริษัททั้งหมดจะเดือดร้อนมากมายอย่างที่เป็นห่วงกัน
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงแต่ละครั้งไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว เพราะต้องมาจากคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย รัฐบาล, ลูกจ้าง และนายจ้าง ซึ่งได้ตกลงกันมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับข้อเท็จจริงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำมาเสนอจนเป็นมติออกมาที่เห็นด้วยว่าควรใช้นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ
"วันนี้เราอาจยึดติดกับข้อมูลเก่า ที่บอกว่าผู้ประกอบการต้องแย่แน่ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่รัฐบาลก็ได้ให้ความช่วยเหลือทุกฝ่ายมาตลอด และรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการอย่างฉุกละหุก ท่านครับรู้ล่วงหน้ามาตั้งแต่พรรคเพื่อไทยจะมาเป็นแล้วว่านโยบาย 300 บาทมีแน่นอน การเตรียมตัวมีมาแล้วมากกว่า 1 ปี จะบอกว่าผู้ประกอบการนั้นไม่รู้ตัวก็ไม่ใช่ วันนี้มีข้อมูลที่ชัดเจนแล้วว่าท่านรู้ และไม่ได้รู้เปล่าด้วย เพราะ 1เม.ย.55 ขึ้นมารอบหนึ่งแล้ว และก่อนการประกาศวันที่ 1 ม.ค.56 ก็ได้มีการประชุมร่วมภาคเอกชนมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคาร ก็เข้าประชุม" นายเผดิมชัย กล่าว
นายเผดิมชัย กล่าวว่า อย่างกรณีการปิดกิจการของบริษัทวีนาการ์เม้นต์ จำกัด จ.สระบุรี ผู้ผลิตชุดชั้นในนั้นเป็นเพราะการประกอบธุรกิจของเขาลดน้อยถอยลงไปหลังจากประกอบกิจการมานานกว่า 10 ปี และปิดกิจการตั้งแต่ 19 ธ.ค.55 เนื่องจากกำลังซื้อจากต่างประเทศไม่มี
"เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมของการทำธุรกิจว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนภายใน 2 ปีจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ควรแสวงกำไรเฉพาะกับการประกอบธุรกิจแต่ไม่ใช่แสวงหากำไรจากลูกจ้าง ไม่ใช่เอาค่าแรงถูกๆ ลูกจ้างอยู่ไมได้แต่ตัวเองอยู่ได้ รัฐบาลไม่ใช่ไม่ช่วย รัฐบาลก็ช่วยเหลือตลอด" นายเผดิมชัย กล่าว