แกนนำ นปช.ยื่นจดหมายเปิดผนึกตุลาการฯ หาทางออกกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ข่าวการเมือง Thursday January 10, 2013 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)พร้อมด้วยแกนนำ อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์, น.พ.เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสอบถามถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่18-22 / 2555 ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ว่า เป็นการกระทำที่เข้าข่ายตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่

นางธิดา กล่าวว่า การยื่นจดหมายเปิดผนึกในวันนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาทางออกกับประเทศไทย เพราะขณะนี้เกิดภาวะชะงักงัน เป็นวิกฤตมาจากปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งดูแล้วยังไม่มีทางออก ดังนั้น แกนนำ นปช.และประชาชนคนเสื้อแดงได้ปรึกษาหารือในเรื่องนี้ จึงเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางมาเรียนถามคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะจากการที่ได้ศึกษาคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการ พบว่ามีเพียงคนเดียวที่ต้องการให้ทำประชามติ โดยไม่ได้ระบุว่าให้จัดทำประชามติโดยใช้รัฐธรรมนูญมาตราใด

นอกจากนี้ อยากให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคำวินิจฉัยเพื่อเป็นการหาทางออกให้กับประเทศไทย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่ศาลมีคำวินิจฉัยว่า เพื่อสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ควรจะให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนนั้น คำว่า ควรทำประชามติ ตามคำวินิจฉัยกลางเป็นคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำที่ใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ และใช้บทบัญญัติใด มาตราใดของรัฐธรรมนูญมารองรับยืนยัน ประการที่สอง เป็นคำถามต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าห้ามรัฐสถาลงมติวาระสามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และอาศัยบทบัญญัติใด มาตราใดของรัฐธรรมนูญมารองรับยืนยัน เพื่อเป็นการสร้างความกระจ่างให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้ตัดสินใจเดินหน้าได้ อีกทั้งยังเป็นทางออกและคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย

นายจตุพร กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้คณะตุลาการทบทวนการแถลงที่ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่ที่จะตอบคำถามดังกล่าว แต่แท้จริงความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นที่ยุติ และทุกฝ่ายต้องอ่านและเข้าใจอย่างตรงกัน แต่กรณีดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยที่ต้องทายใจคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าต้องการอะไรกันแน่ ซึ่งหลักในการพิจารณาจะต้องยึดตามเสียงข้างมาก หรือจะใช้เพียงหนึ่งเสียง ซึ่งในจำนวนหนึ่งเสียงที่เขียนอยู่ในคำวินิจฉัยในเรื่องการจัดทำประชามติ ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าเป็นคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำกันแน่ เพราะหากรัฐสภาหรือรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ก็อาจนำเป็นกับดักที่ไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายจตุพร กล่าวต่อว่า แม้ว่า นปช.จะแสดงจุดยื่นว่าอำนาจโหวตวาระ 3 เป็นอำนาจโดยตรงของสมาชิกรัฐสภา แต่ด้วยคำวินิจฉัยที่เต็มไปด้วย ข้อสงสัยจึงได้มาร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายความต้องการของคณะตุลาการอย่างง่ายๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ