ฝ่ายค้านตั้งกระทู้ถามสด"สุรพงษ์"ปมปราสาทพระวิหาร-พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

ข่าวการเมือง Thursday January 17, 2013 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ตั้งกระทู้ถามสดกับนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกรณีปราสาทพระวิหาร โดยระบุว่า พฤติกรรมของนายสุรพงษ์ทำให้คนจำนวนมากผิดหวังเพราะทำตามใบสั่งนายใหญ่ ซึ่งจากเหตุปะทะบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชาเมื่อ 2 ปีก่อน แต่คนที่อยู่แดนไกลให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์จาการ์ต้าโกล์บในทำนองว่าไทยไปรุกรานกัมพูชาและยิงเพื่อนบ้านของตัวเอง

ขณะเดียวกันการที่นายทิต โซะเทีย รองหัวหน้าหน่วยข่าวและตอบโต้เร็วของกัมพูชาให้สัมภาษณ์สื่อว่า ไทยมีการรุกรานอธิปไตยกัมพูชาในพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร จึงขอถามว่ากรณีที่นายทิตให้สัมภาษณ์ว่าไทยรุกรานอธิปไตยกัมพูชานั้น จุดยืนของไทยเป็นอย่างไรและทำจดหมายทักท้วงหรือไม่ เพราะหากไม่มีการทักท้วงจะถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายกัมพูชาในการต่อสู้คดี

หรือกรณีที่นายสุรพงษ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าคดีนี้ไทยมีแต่แพ้กับเสมอตัว ซึ่งหากกัมพูชานำเรื่องดังกล่าวไปต่อสู้ที่ศาลโลกแล้วทำให้ไทยแพ้คดี จึงอยากถามว่าทำไมถึงยกธงขาวไม่ต่อสู้

นอกจากนี้อยากถามถึงผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลที่สื่อมวลชนของกัมพูชาอ้างอิงข้อมูลจากวิกิลีกส์ได้รายงานว่ามีการตกลงผลประโยชน์แก๊สและน้ำมันในอ่าวไทยเรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ รมต.ต่างประเทศยืนยันว่าเรื่องนี้ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

ด้านนายสุรพงษ์ ชี้แจงว่า กรณีของนายทิตให้สัมภาษณ์นั้นเป็นการให้สัมภาษณ์ส่วนตัว ไม่ใช่การประท้วงมายังรัฐบาลไทย จึงยังไม่มีการตอบโต้แต่อย่างใด

ส่วนการให้สัมภาษณ์เรื่องแพ้หรือเสมอตัวนั้นตนเองไม่อยากให้ตัดตอนตอนมาพูดเท่านั้น เพราะสิ่งที่ตนเองพูดนั้นเป็นการพูดถึงแนวทางคำตัดสินของศาลที่เป็นไปได้ 4 แนวทาง คือ 1.ศาลโลกจำหน่ายคดี 2.ศาลพิจารณาคดีและตัดสินตามท่าทีของไทย 3.พิจารณาตามแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนตารางกิโลเมตร และ 4.ศาลตัดสินแบบกลางๆ ไม่อิงท่าทีของไทยและกัมพูชา

"ถ้าเป็นไปในแนวทางที่ 1 และ 2 ก็คือเสมอตัว แต่หากพิจารณาตามแนวทางที่ 3 และ 4 ไทยก็แพ้คดี เป็นการพูดเพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย" นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามักถูกกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล และนำไปเกี่ยวโยงกับประเด็นการเมือง แต่ขอยืนยันว่าการทำเอ็มโอยูปี 2544 เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไปยกเลิกแล้วนั้น ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาก็ไม่เคยแตะต้อง การที่จะกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้ประโยชน์ก็ขอให้นำหลักฐานมาต่อสู้และอย่ามากล่าวหากัน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนที่กล่าวหาตนเองว่าไม่นำคณะไปต่อสู้คดีนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้นายฮอนัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศกัมพูชาได้เดินทางไปขึ้นศาลโลกและพูดเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งตนเองยอมรับว่าฟังไม่รู้เรื่อง แต่หากจะให้ตนเองไปนั้นก็พร้อมใช้เงินภาษีประชาชนร่วมเดินทางไปนั่งฟังการพิจารณาของศาลโลกเพื่อให้กำลังใจ

หลังจากนั้น นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป.ซึ่งเป็นอดีต รมว.ต่างประเทศ ใช้สิทธิพาดพิงลุกขึ้นอภิปรายว่า การต่อสู้ของประเทศไทยมอบหมายให้นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก เป็นหัวหน้าคณะ ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็เดินทางไปร่วมคณะ เป็นหลักปฏิบัติตามปกติ ซึ่งเป็นการแสดงออกว่าฝ่ายการเมืองสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเต็มที่ รวมทั้งอาจจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับฝ่ายการเมืองด้วย ส่วนเรื่องภาษาฝรั่งเศสไม่เกี่ยวข้องกันเพราะจะมีการแปลอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่มอบหมายให้นายฮอนัมฮง รมว.ต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะสู้คดีฝ่ายกัมพูชานั้น สำหรับประเทศไทยเป็นเอกราชไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกัมพูชา

จากนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป.ใช้สิทธิ์พาดพิงกรณีนายสุรพงษ์กล่าวว่ารับคดีนี้ที่เป็นมรดกต่อจากรัฐบาลชุดที่แล้วว่า ขอยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีจุดเริ่มต้นจากรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่เกิดจากที่กัมพูชานำเรื่องขึ้นศาลโลก รัฐบาลของตนเองพยายามสกัดไม่ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเพียงฝ่ายเดียวจนนำไปสู่กัมพูชาสร้างสถานการณ์ใช้กำลัง มีการปะทะบริเวณชายแดน จนเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ศาลโลก

อย่างไรก็ตาม กรณีที่นายสุรพงษ์ระบุว่ามีแต่เจ๊ากับแพ้นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากศาลวินิจฉัยไม่เป็นไปตามที่กัมพูชาต้องการก็จะนำไปสู่การเจรจา 2 ฝ่ายในการจัดทำเขตแดน เป็นไปหลักของเอ็มโอยูปี 2543 เรื่องปักปันเขตแดน นอกจากนี้ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้ระบุว่าไม่ได้แตะต้องเอ็มโอยูปี 2544 แต่เชื่อว่ารัฐบาลไม่กล้ายืนยันว่า 1 ปีกว่าที่ผ่านมาไม่มีใครในรัฐบาลพบปะกับกัมพูชาหรือบริษัทน้ำมันที่มีการพูดถึงน้ำมันและแก๊ส


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ