"สุรพงษ์"เผยญี่ปุ่นสนใจร่วมลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็ค-ฝึกคอบบร้าโกลด์

ข่าวการเมือง Saturday January 19, 2013 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ โตวิจัษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ เผยญี่ปุ่นสนใจเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และการเข้าร่วมฝึกโครงการคอบบร้าโกลด์

"เมื่อวานในการหารือ ท่านนายกฯญี่ปุ่นก็ได้พูดกับนายกฯยิ่งลักษณ์ว่าถ้าเป็นไปได้ เขาสนใจที่จะได้มีส่วนในการที่จะร่วมบริหารจัดการน้ำหรือมีโอกาสที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้" นายสุรพงษ์ กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนทางสถานีโทรทัศน์ NBT เช้านี้

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การลงทุนจากญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้เมื่อปีก่อน หากเปรียบเทียบแล้ว ทั้งไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ปรากฎว่าญี่ปุ่นเลือกมาลงในไทยมากสุด ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย.มีมูลค่า 3.1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขการลงทุนที่มากสุด นอกจากนั้นคนญี่ปุ่นที่มาอยู่ในประเทศไทยมากถึง 47,000 คน เมื่อเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตัวที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก และโดยเฉพาะการลงทุน หลังจากที่ได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้วเสร็จ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า วันนี้หลายประเทศเกิดภัยธรรมชาติค่อนข้างที่จะรุนแรง อย่างกรณีน้ำท่วมที่ประเทศอินโดนีเซีย ทางประเทศญี่ปุ่นเองก็เกิดแผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา นักลงทุนญี่ปุ่นจึงมองหาแหล่งใหม่ที่จะมาตั้งนิคมอุตสาหกรรม หรือทำอุตสาหกรรมในประเทศนั้นๆ และมองว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เรามีนโยบาย มีโครงการที่จะเชื่อมโยง เหนือ ใต้ ตก ออก เพื่อให้เป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียนจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลไทย เราประกาศใช้เงินถึง 2 ล้านล้านบาทใน 5 ปีที่จะทำโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เขาก็ยิ่งสนใจโดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวคิดที่จะนำสินค้าโอทอปขึ้นไปขายบนรถไฟเหมือนในญี่ปุ่น ซึ่งเราสามารถจะประสานร่วมมือกัน และอยากให้ทางญี่ปุ่นเสนอสิ่งที่ดีที่สุด โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและผลประโยชน์ต่างๆ และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดกัน และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กับนายกฯ ญี่ปุ่นได้พูดถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คือหมายความว่าทางญี่ปุ่นเองเขาจะมาลงทุนในประเทศไทย เขาเกรงว่าการที่เราผลิตนักศึกษาหรือวิศวกรขึ้นมาไม่สามารถที่จะทำงานให้กับโรงงานของญี่ปุ่นได้

"ถึงขั้นอาจจะต้องเปิดโรงเรียนหรืออาชีวศึกษาร่วมกัน เช่น กรณีที่เราเปิดเทคโนโลยีไทย-เยอรมัน เราอาจจะมีไทย-ญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นรูปแบบใหม่ และให้น้องๆ ที่จบอาชีวะ สามารถจบแล้วออกมาทำงานได้เลย" นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษื กล่าวว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นสู่ไทยจะเริ่มต้นให้เร็วที่สุด เพราะว่าวันนี้เรามีข้อตกลงหลายๆ เรื่องร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวานได้มีการหยิบยกถึงเป้าหมายที่เราได้ประกาศตัวร่วมกับทางญี่ปุ่นว่าเราจะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกัน เรามีเป้าหมายว่าปีนี้ เรามีการค้าขายระหว่างกัน 65,000 ล้านบาท ในปี 2560 เราจะให้มีการซื้อขายระหว่างกันถึง 100,000 เหรียญ ปีหนึ่งเพิ่มขึ้นสัก 10-20% เราก็มีเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว และเราก็จะให้ความร่วมมือที่จะทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จไปได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่ยาก

นอกจากนี้ยังพูดถึงความร่วมมือทางทหาร ทางญี่ปุ่นสนใจที่จะมาฝึกคอบบร้าโกลด์ที่ทางทหารได้มีการฝึกร่วมผสมระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศจีน ตลอดจนการฝึกเพื่อป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วย ซึ่งจะอยู่ในโครงการคอบบร้าโกลด์ นอกจากนั้นทางญี่ปุ่นยังพูดถึงความมั่นคงทางทะเล ซึ่งเขาเป็นห่วงเรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งทางอาเซียนเองก็มีข้อพิพาทกับทางประเทศจีน ซึ่งเราบังเอิญเป็นประเทศผู้ประสานงาน เราก็สร้างความมั่นใจให้ทางญี่ปุ่นได้เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในภูมิภาค และเราต้องการให้คู่พิพาทกันได้ตกลงกันพูดจากันโดยสันติ พูดถึงเรื่องในคาบสมุทรเกาหลี และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราก็อธิบายเขาให้เกิดความเข้าใจที่สนใจมากที่สุดเรื่องกรณีท่าเรือน้ำลึกทวายที่เมียนมาร์

และอีกเรื่องหนึ่งคือ การประชุม World Asia-Pacific Water Summit ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นคนริเริ่มด้วย เราก็ได้เชิญท่านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมาร่วมประชุมประมาณเดือนพฤษภาคม ซึ่งในงานนี้เราจะมีผู้นำหลาย ๆ ประเทศมา และจะมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ

"ผู้ที่เสนอตัวเข้ามามีส่วนร่วมในการประมูลที่มีการดำเนินงานในขณะนี้ เขาจะต้องเอาโมเดลที่เขาออกแบบมาโชว์ให้คนได้เห็น ผมคิดว่าคนไทยจะได้รับประโยชน์กัน และคนที่มาดูก็จะได้เห็นแนวคิดของประเทศต่างๆ ที่ได้เสนอตัวเข้ามาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย" นายสุรพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ