ที่ประชุมคณะทีมกฎหมายต่อสู้คดีพิพาทพื้นที่รอบตัวปราสาทพระวิหาร ระหว่างไทย-กัมพูชา ได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการจากนายวีระชัย พลาศัย เอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทีมหัวหน้าทนายคดีต่อสู้ปราสาทพระวิหารของไทย ซึ่งเดินทางมาถึงเมื่อช่วงเช้าของวันนี้
นายวีระชัย ได้ชี้แจงถึงแนวทางการต่อสู้ให้ที่ประชุมได้รับทราบ ซึ่งที่ประชุมมีความพอใจ และมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในหลายประเด็น และจะนำข้อคิดเห็นที่ได้ในวันนี้ไปปรับแต่งให้เข้ากับแนวทางการต่อสู้ เพื่อให้เฉียบคมยิ่งขึ้น ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้คณะดำเนินคดีต้องต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ซึ่งฝ่ายทหาร โดยทหารต้องทำหน้าที่รักษาอธิปไตย ด้านกระทรวงการต่างประเทศจะดูแลความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศในทุกระดับให้ดี ทั้งนี้ทุกฝ่ายมีความมั่นใจในการต่อสู้คดี และคิดว่าประเทศเดินมาถูกทางแล้ว
ส่วนการตอบโต้ระหว่างสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านของไทย จะกดดันต่อรูปคดีหรือไม่นั้น นายณัฏวุฒิ เห็นว่า ต้องแยกแยะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จะต้องดำเนินแก้ไขด้วยวิธีทางการฑูต ส่วนคณะดำเนินคดีจะดูในเรื่องสารัตถะในการดำเนินคดี ทั้งนี้ที่ประชุมมีการประเมินถึงแนวทางการพิพากษา แต่ก็ต้องรอดูสำนวนคดีข้อต่อสู้ของกัมพูชาในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้และนำมาวิเคราะห์ รวมถึงรอดูคำพิพากษาของศาล ซึ่งขณะนี้จะเจาะจงเรื่องของคดีที่จะมีการตัดสินในช่วงเดือนเมษานี้ก่อน
อย่างไรก็ตาม ศาลจะพิจารณาตามกรอบสามประเด็นคือ 1.กัมพูชาเสนอให้ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา 2.ขอให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร และ3.ขอให้ไทยคืนวัตถุโบราณที่ไทยยึดไว้ ทั้งนี้ความแตกต่างในการต่อสู้คดีในปี 2505กับปัจจุบันของการตีความของคำพิพากษาของคดีเก่า นายวีระชัย กล่าวว่า สำนวนคดีสำหรับแนวทางการต่อสู้ถือว่าลงตัวแล้วในระดับหนึ่ง และเห็นว่ามีความแตกต่างจากปี 2505 เนื่องจากคดีปัจจุบันเป็นการตีความคำพิพากษาของคดีเมื่อช่วงปี 2505 ดังนั้นจึงถูกจำกัดในกรอบของการตีความ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ เป็นทีมช่วยเสริมทางด้านกฎหมาย และจะมีการนำคณะไปพบทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมายชาวต่างประเทศ ที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ในวันที่ 8-9 ก.พ. จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมอีกครั้ง