กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ น่าน นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น กระบี่ นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,016 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 22 - 26 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.0 ไม่เชื่อมั่นว่า ความขัดแย้งกรณีประสาทเขาพระวิหารจะจบลงด้วยดี นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.7 คิดว่ากรณีประสาทเขาพระวิหารกลายเป็นเกมทางการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 35.3 ไม่คิดว่าเป็นเกมการเมือง
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.1 ระบุทางออกของกรณีประสาทเขาพระวิหารควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่ร้อยละ 23.9 ระบุควรนำวิถีทางการเมืองเข้ามาแก้ปัญหา
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.5 ระบุยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับคดีปราสาทเขาพระวิหารที่รัฐบาลให้ข้อมูลแก่ประชาชน แต่ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อสอบถามถึงความต้องการของสาธารณชนต่อศาลโลกให้พิจารณาคดีประสาทเขาพระวิหารที่นำไปสู่ความสงบสุขแก่ทั้งสองประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.8 ต้องการ ในขณะที่เพียงร้อยละ 9.2 ที่ไม่ต้องการ
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.8 ระบุ การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และพล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้พบปะพูดคุยร่วมงานกัน เป็นสัญญาณที่ดีต่อความรักความสามัคคีปรองดองมากกว่า ความพยายามออกกฎหมายปรองดองในรัฐสภา ในขณะที่ร้อยละ 36.2 คิดว่า การออกกฎหมายปรองดองในรัฐสภาย่อมดีกว่า