ส่วนแนวคิดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถพกพาอาวุธเพื่อใช้ในการป้องกันตนเองได้นั้น นายกรัฐมนตรี มองว่า เรื่องนี้จำเป็นต้องพิจารณาถึงระดับความรุนแรงในพื้นที่เป็นตัวตั้ง และให้อยู่ในวิสัยที่จะสามารถดูแลใช้งานได้จริง ส่วนเจ้าหน้าที่อื่นๆ คงต้องดูความเหมาะสมอีกครั้ง โดยเรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงที่จะไปพิจารณา
สำหรับปัญหาครูในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ขอย้ายออกจากพื้นที่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในพื้นที่จะต้องมีการพูดคุยถึงสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น และยอมรับว่าครูในพื้นที่อาจเกิดความไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ลงไปกำกับดูแล และการจะให้ตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) เข้าไปทำหน้าที่สอนหนังสือแทนครูนั้นก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง แต่อาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาปัญหาที่ต้นเหตุว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่โรงเรียนได้มากยิ่งขึ้น
ด้านพล.ต.ดิษฐพร ศศะสมิต โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้กับ กอ.รมน.สำหรับการดำเนินงานในปี 56 ประกอบด้วย 1.การเพิ่มการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการรักษาความสงบความมั่นคงของชาติ 2.เน้นย้ำให้หาสาเหตุของความต้องการยาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากด้านการจับกุมเพียงอย่างเดียว 3.เน้นเรื่องยุทธศาสตร์การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ไปใช้การให้เกิดประโยชน์สูงสุด
4.การจัดสรรงบประมาณต้องพิจารณาในระยะยาวสอดคล้องในแต่ละพื้นที่ 5.ความมั่นคงด้านอื่นๆ ต้องการให้ดูแลในด้านภัยพิบัติต่างๆด้วย โดยเฉพาะการดูแลพื้นที่ป่า 6. ย้ำให้ตรวจตราตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย เพื่อเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังต้องการให้ กอ.รมน.ภาค ต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดและเป็นแนวทางเดียวกันกับ กอ.รมน.จังหวัดและบูรณาการข้อมูลการทำงานภาคประชาชนให้ เน้นแฟ้น พร้อมฝากเรื่องการบรรจุกำลังพล ของ กอ.รมน.ให้นำผู้มีความรู้ความสามารถและความสมัครใจที่จะทำงานในพื้นที่ยากลำบาก พร้อมให้มีการพิจารณาการเติบโตในสายงานด้วย
ในวันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในการประชุมสรุปผลงานการปฏิบัติงานประจำปี 2555 และแถลงผลงานการปฏิบัติงานประจำปี 2556 ของกอ.รมน. รวมทั้งมอบนโยบายในการดำเนินงานด้านความมั่นคง โดยมี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าร่วมประชุม