"การไร้รอยต่อ ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลจะตั้งเป้าเพิ่มงบประมาณให้ กทม.จนไม่เป็นธรรมกับจังหวัดอื่น แต่การประสานงานที่ดี ระหว่าง กทม.และรัฐบาล จะทำให้ กทม.สามารถบริหารงบประมาณที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น" ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว
และปัจจุบันคนต่างจังหวัดก็เข้ามาอาศัยในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก โดยในจำนวนผู้ที่อาศัยอยู่ใน กทม.กว่า 10 ล้านคนนั้น เป็นคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม.จริงๆ เพียง 5,670,469 คน เท่านั้น(ข้อมูล ณ. พ.ย.55) อีก 5 ล้านกว่าคนเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาใช้ชีวิตใน กทม. ซึ่งคนต่างจังหวัดเหล่านี้ย่อมต้องได้รับประโยชน์จากบริการต่างๆ ของ กทม.อยู่แล้ว
"เราไม่ควรมอง กทม.แบบตัดขาดจากจังหวัดอื่นโดยสิ้นเชิง แม้จะเป็นเขตปกครองพิเศษ เพราะ กทม.คือส่วนหนึ่งของประเทศไทย ไม่ได้ตั้งอยู่อย่างเอกเทศ ที่สำคัญเมื่อ กทม. ได้รับการพัฒนาก็จะมีเม็ดเงินและความเจริญไหลย้อนกลับไปยังจังหวัดอื่นๆ เพราะเป็นเมืองหลวงของประเทศ" ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว
ส่วนที่มีข้อกังวลว่า เมื่อการทำงานไร้รอยต่อเพราะผู้ว่าฯ มาจากพรรคเดียวกับรัฐบาลแล้วจะตรวจสอบไม่ได้นั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันสมาชิกสภา กทม.ส่วนใหญ่มาจากพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อยู่แล้ว โดยในจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด 61 คน เป็นสมาชิกพรรค ปชป. 47 คน เพื่อไทย 13 คน และภูมิใจไทย 1 คน นอกจากนี้ยังมีองค์กรอิสระและภาคประชาชนเป็นกลไกตรวจสอบผู้ว่าฯ ได้อีก