"ณัฐวุฒิ"เสนอร่างนปช.ให้นายกฯ ตัดประเด็นนิรโทษกรรมบรรดาแกนนำฯ หวังสร้างปรองดอง

ข่าวการเมือง Friday February 1, 2013 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ในฐานะแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้เสนอแนวคิดและความคืบหน้าการดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ของ นปช.ต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยชี้แจงเนื้อหาของร่างดังกล่าวที่จะนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ร่วมชุมนุม ยกเว้นแกนนำฯ ทุกฝ่าย ซึ่งน่าจะเป็นทางหนึ่งในการสร้างความปรองดอง และคิดว่าจะทำให้การเจรจากับคู่ขัดแย้งต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงท่าทีของฝ่ายต่างๆ ซึ่งตนเองได้ชี้แจงว่าคนที่เห็นด้วยมีเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีแนวทางอื่นๆ เข้ามาด้วย ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ(คอ.นธ.) หรืออาจจะมีแนวทางอื่นเข้ามาก็จะรับไว้พิจารณา รวมถึงหากฝ่ายค้านมีการเสนอเข้ามาก็จะรับไว้พิจารณาด้วยเช่นกัน ส่วนฝ่ายที่คัดค้านนั้นก็ไม่ปรากฎที่ชัดเจนออกมาเป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตจากพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะเกี่ยวข้องกับแกนนำฯ หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา และคิดว่าไม่มีท่าทีต่อต้านที่รุนแรงจากฝ่ายใด

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงว่าทั้งหมดถือเป็นจุดยืนเดียวกัน แต่แนวทางปฏิบัติมีความหลากหลายอยู่ จึงให้รวมทุกข้อเสนอส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ตามขั้นตอนกฎหมาย จากนั้นก็คงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้หารือกันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะเป็นฝ่ายใดบ้างนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการลงรายละเอียด

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ระบุด้วยว่า การสร้างความปรองดองของคนในชาติถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ช่องทางใดที่ทำให้ความปรองดองมีความคืบหน้ารัฐบาลก็ยินดีจะดำเนินการ

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า หลังจากมีการนิรโทษกรรมแล้วจะทำให้พื้นที่การเจรจาระหว่างส่วนนำต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้รับฟังไว้แต่ไม่ได้มีความเห็นออกมา ขณะที่ขั้นตอนจากนี้จะยื่นเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ผ่านนายกรัฐมนตรีต่อไป และความเห็นที่มาพูดกับนายกรัฐมนตรี วันนี้ก็ถือเป็นจุดยืนของแกนนำของ นปช.ด้วย ที่ได้ปรึกษาหารือเป็นการภายในแล้ว

ส่วนจะมีการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า รัฐบาลมีท่าทีรับฟังมาโดยตลอด หลังจากนี้ต้องรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ทั้งนี้ไม่ว่าแนวทางที่ออกมาจะเป็นแนวทางไหนทางกลุ่ม นปช.ก็ต้องยอมรับ

"การนิรโทษกรรมเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความปรองดอง...กลุ่ม 29 มกราฯ ไม่ได้กดดัน นปช.ให้ออกมาเคลื่อนไหว แต่เห็นว่า ระยะเวลามันนานผู้ที่รู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นผู้ถูกกระทำยิ่งจะฝังใจ และหากนานไปจะไม่เป็นผลดีกับบรรยากาศในภาพรวม ซึ่งหากพูดถึงการสร้างความปรองดองทิ้งเวลาไปนานแบบนี้ไม่ได้" นายณัฐวุฒิ กล่าว

และการที่กลุ่ม 29 มกราฯ ออกมาเคลื่อนไหวคงไม่ได้เป็นการสร้างเงื่อนไขกดดันรัฐบาล เพราะไม่ได้คาดคั้นรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และการที่รับเรื่องไปเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ถือว่าเริ่มดำเนินการแล้ว

"รัฐบาลจะไม่ซื้อเวลาเพื่อต่ออายุให้กับรัฐบาล ที่ผ่านมาการดำเนินการของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมมีหลายแนวทาง ทั้งการเยียวยา การขับเคลื่อนคดีความจากทุกฝ่ายให้เกิดความยุติธรรม ซึ่งถือเป็นความพยายามของรัฐบาล ส่วนจะประกาศระยะเวลาการดำเนินการหรือไม่นั้น ถือว่าทำไม่ได้เพราะขณะนี้ยังมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจะเป็นการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ การที่ให้สังคมได้อภิปรายกัน สื่อมวลชนได้ถามฝ่ายต่างๆ ถือเป็นการหลอมรวมความคิดทั้งหมด" นายณัฐวุฒิ กล่าว

ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า ต้องดำเนินการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อศึกษาถึงรายละเอียด โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมาย

ส่วนจุดยืนของรัฐบาลนั้นพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นและอยากให้เรื่องดังกล่าวเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย และทุกคนสบายใจ ดังนั้นจึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและใช้เวลา โดยรัฐบาลจะเร่งศึกษาทุกแนวทางที่แต่ละฝ่ายเสนอและดูวิธีการที่เหมาะสม เนื่องจากไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งและอยากเห็นบ้านเมืองเกิดความสงบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ