ที่น่าสนใจคือ ข่าวการที่ข้าราชการ กทม. ไม่ยอมให้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เข้าไปหาเสียงแต่อนุญาตให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เข้าไปหาเสียงได้ ส่งผลต่อความรู้สึกอย่างไรต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.9 ระบุ ส่งผลดีต่อ พล.ต.อ.พงพัศ พงษ์เจริญ ในขณะที่ร้อยละ 46.1ระบุไม่ส่งผลอะไร ส่วนความตั้งใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ที่จะมาถึงนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.4 ตั้งใจจะไป ในขณะที่ร้อยละ 36.6 จะไม่ไป
ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ท่านจะเลือกใคร พบว่า ความนิยมของสาธารณชนคนกรุงเทพมหานครต่อ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจิรญ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ จากร้อยละ 32.1 ก่อนวันรับสมัคร มาอยู่ที่ร้อยละ 41.8 ในโค้งที่ 1 และร้อยละ 43.1 ในโค้งที่ 2 ในขณะที่ สัดส่วนของประชาชนที่ตั้งใจจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 37.6 ในโค้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 33.1 ในโค้งที่ 2 ส่งผลทำให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ทิ้งห่าง ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ออกไปอีก จาก 4.2 จุด เป็น 10 จุดในการสำรวจครั้งนี้
เจาะลึกพบเหตุผลที่ทำให้ พล.ต.อ.พงศพัศ มีคะแนนนำในหมู่ประชาชน พบว่า อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือ Change ในทิศทางที่ดีขึ้นของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังระบุว่า “เบื่อความขัดแย้ง" และยังต้องการให้โอกาสกับผู้สมัครคนใหม่อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ นโยบายที่จับต้องได้เป็นประโยชน์ลดความเดือดร้อนของประชาชนและมีความเป็นไปได้ว่า ทำได้จริงเพราะมีรัฐบาลสนับสนุน
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนคนกรุงเทพมหานครอยากให้ ผู้ว่า กทม. คนต่อไปดำเนินการเกี่ยวกับพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ โดยพบว่า ร้อยละ 32.9 ระบุสวนสาธารณะ รองลงมาคือ ร้อยละ 18.0 ระบุสนามกีฬา ร้อยละ 17.0 ระบุสถานฝึกอบรมอาชีพ ร้อยละ 8.5 ระบุศูนย์นันทนาการสาธารณะ ร้อยละ 7.2 ระบุห้องสมุดประชาชน และรองๆ ลงไปคือ พิพิธภัณฑ์ที่สามารถให้ความรู้แก่ประชาชน ลานแสดงหรือจัดกิจกรรมสาธารณะ พื้นที่เพาะปลูก เลี้ยงสัตวในชุมชน และอื่นๆ เช่น สระว่ายน้ำ กทม. ลานชุมชนทางการเมือง ลานบุญลานธรรม เป็นต้น