นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองเห็นว่ากลไกการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) จะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ ซึ่งขณะนี้กรอบการเจรจา FTA ไทย-อียู ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว และคาดว่าจะสามารถเริ่มเจรจากับอียูได้ภายในครึ่งแรกของปีนี้
โดยฝรั่งเศสยังได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทย โดยเฉพาะรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ฝ่ายไทยจะพิจารณาเรื่องเทคโนโลยีเป็นหลัก รวมถึงเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยี, การพัฒนาบุคลากร และแผนการบำรุงรักษาที่จะเป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย โดยจะกำกับดูแลกระบวนการประมูลต่างๆ ให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสชื่มชมแนวทางที่ชัดเจนในการประมูลราคาของรัฐบาลไทย และมั่นใจว่าไทยและฝรั่งเศสจะได้ทำงานร่วมกันในเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ นายกฯ ได้เชิญชวนฝ่ายฝรั่งเศสให้ส่งเสริมบริษัทที่สนใจพิจารณาเข้าร่วมการประมูลที่โปร่งใส โดยฝ่ายไทยจะให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก นอกจากนี้ได้แจ้งว่าไทยยังมีแผนที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยานให้เป็นรูปธรรม ซึ่งรวม cluster อุตสาหกรรมอากาศยานตั้งแต่การผลิต การซ่อมบำรุง และการบริการ
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอากาศยาน ไทยมีแผนที่จะตั้งนิคมอากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยานทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การซ่อมบำรุงและการบริการ ซึ่งไทยมีจุดแข็งเรื่องที่ตั้งภูมิศาสตร์ อุตสาหกรรมสนับสนุนและแรงงานฝีมือ โดยได้เชิญให้ฝรั่งเศสเข้ามาสำรวจลู่ทางการลงทุนในด้านนี้ ซึ่งเป็นสาขาที่ฝรั่งเศสมีความชำนาญ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเชิญชวนให้ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรกับไทยแบบไตรภาคีเพื่อการพัฒนาในประเทศที่สาม ซึ่งฝรั่งเศสมีความสนใจที่จะร่วมกับไทยในเรื่องนี้ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจทวาย ตลอดจนการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาของประเทศในแอฟริกา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความสนใจของฝรั่งเศส โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการเพิ่มพูนบทบาทของไทยในกรอบความร่วมมือแบบ South-South กับแอฟริกา ที่เน้นการเผยแพร่องค์ความรู้และประสบการณ์ของไทยในด้านการเกษตร สาธารณสุข และการศึกษา ซึ่งฝรั่งเศสสนใจที่จะเข้าร่วมกับไทยในเรื่องนี้
ด้านการศึกษา ทั้งสองต่างยินดีที่ความร่วมมือทางการศึกษาและการวิจัยมีความก้าวหน้า โดยในวันนี้จะมีการลงนามด้านการศึกษาถึง 2 ฉบับ ซึ่งจะช่วยรองรับความต้องการของตลาดแรงงานที่มีคุณภาพและพัฒนาการสอนภาษาฝรั่งเศสในไทย โดยที่ฝรั่งเศสประสงค์ให้มีการส่งเสริมการเรียนภาษาฝรั่งเศสในไทยมากขึ้น
ด้านพลังงาน ไทยและฝรั่งเศสจะร่วมมือกันด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะในสาขาเชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ และ Smart Grids และยินดีที่จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยกับสถาบัน CIRAD ของฝรั่งเศส ซึ่งคลอบคลุมความร่วมมือในสาขาที่หลากหลาย รวมถึงสาขาการวิจัยเรื่องพลังงานชีวภาพด้วย
สำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาค ฝรั่งเศสมีความสนใจต่อภูมิภาคอาเซียนและเอเชียมากขึ้น และไทยได้ย้ำถึงโอกาสทางเศรษฐกิจในอาเซียนที่ฝรั่งเศสสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค (connectivity) นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคทั้งในเอเชียและยุโรป โดยเห็นพ้องว่าอาเซียน และฝรั่งเศสพร้อมอียูจะร่วมกันส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และมั่งคั่งของภูมิภาคต่อไป
ทั้งนี้ ประเทศไทยยินดีต่อการเยือนของท่านนายกรัฐมนตรีเอโรต์ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเยือนที่มีความสำคัญยิ่ง เป็นการยืนยันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสได้พัฒนาจากพื้นฐานของสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 300 ปี กลายเป็นความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่มีค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมในด้านต่างๆ และจะพัฒนาสืบต่อยิ่งขึ้นไปในทุกมิติและทุกระดับ ตามเจตนารมณ์ที่มีร่วมกันของทั้งสองประเทศ