เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.: นิด้าโพลเผยโค้ง 3 คะแนนนิยม"พงศพัศ"สูสี"สุขุมพันธุ์" มองหาเสียงเข้มข้นขึ้น

ข่าวการเมือง Thursday February 7, 2013 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คนกรุงฯ กับการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. โค้งที่ 3" จากการสำรวจ เมื่อถามว่า “หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกใครเป็นผู้ว่า กทม." พบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 24.47 ระบุว่า จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เป็นผู้ว่าฯ กทม. รองลงมา ร้อยละ 22.87 จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ร้อยละ 7.60 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวศ ร้อยละ 1.67 จะเลือก นายสุหฤท สยามวาลา ร้อยละ 0.40 จะเลือก นายโฆษิต สุวินิจจิต ร้อยละ 0.07 จะเลือกนายโสภณ พรโชคชัย ร้อยละ 41.07 ที่ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ และมีเพียงร้อยละ 1.87 ที่ระบุว่าไม่ลงคะแนนเสียง

เมื่อวิเคราะห์จำแนกตามพื้นที่ของกรุงเทพฯ พบว่า พล.ต.อ.พงศพัศ มีคะแนนความนิยมนำผู้สมัครคนอื่นๆ ในเขต กทม. ตะวันออก (ร้อยละ 28.16) กทม. ฝั่งธนบุรีเหนือ (ร้อยละ 26.26) กทม. เหนือ (ร้อยละ 22.87) และ กทม. ฝั่งธนบุรีใต้ (ร้อยละ22.35)

ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มีคะแนนความนิยมนำ ผู้สมัครคน อื่นๆในเขต กทม.กลาง (ร้อยละ 28.40) และ กทม. ใต้ (ร้อยละ 25.47)

ท้ายสุด เมื่อถามถึงสาเหตุที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใครนั้น พบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 83.44 ระบุว่า รอพิจารณาว่านโยบายใดเหมาะสม รองลงมา ร้อยละ 8.60 ระบุว่า ไม่มีใครน่าสนใจ และ ร้อยละ 1.46 รอดูผลโพล

นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้คล้ายกับโค้งที่ 2 ที่พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ มีคะแนนนำ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เล็กน้อยเพียง ร้อยละ 1.6 ถือว่ายังเป็นการนำที่ไม่มากเท่าไร แต่สิ่งที่น่าสังเกตและน่าสนใจมากก็คือ กลุ่มของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งจากการสำรวจครั้งนี้มีจำนวนที่ลดลงจากการสำรวจคราวที่แล้ว นั้นเป็นสัญญาณที่บอกว่ากลุ่มผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจได้ให้คะแนนไปยังผู้สมัครต่างๆ แล้ว แต่กระจายออกไปในระดับที่เล็กน้อยเท่านั้น ฉะนั้นในช่วงนี้การเปลี่ยนแปลงของคะแนนยังมีไม่มาก เพราะยังมีระยะเวลาในการตัดสินใจอีกมาก จึงยังไม่สามารถจะระบุได้ชัดเจนว่าผู้สมัครท่านใดจะได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป เนื่องจากคะแนนมีความสูสีกันมาก เท่ากับว่าผู้สมัครยังมีโอกาสที่จะได้รับการเลือกตั้ง สำหรับกลุ่มผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจก็ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญ ฉะนั้นผู้สมัครควรทุ่มเทการหาเสียงให้มากขึ้น นำเสนอทั้งด้านบุคลิกภาพ นโยบายต่างๆ รวมทั้งผลงานที่เคยทำและประสบความสำเร็จ และหลังจากนี้การหาเสียงจะมีความเข้มข้นขึ้น

สำหรับสาเหตุที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใครนั้น ชาวกรุงเทพฯ ส่วนมากยังคงรอดูนโยบายว่านโยบายของผู้สมัครเบอร์ใดที่น่าสนใจ และตรงตามความต้องการของตัวเองมากที่สุด ฉะนั้นผู้สมัครท่านใดที่เสนอนโยบายได้ตรงใจกับกลุ่มผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจก็อาจจะได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ "นิด้าโพล" ได้ทำการสำรวจความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 5 — 6 กุมภาพันธ์ 2556 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,500 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ