พร้อมย้ำว่า หลักในการประกาศใช้เคอร์ฟิวจะต้องเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว แต่ทั้งนี้หากสุดความสามารถก็อาจจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากประชาชนเพื่อดูแลให้พื้นที่นั้นเกิดความสงบ ซึ่งจะได้มีการสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนก่อนด้วย
"ขอให้คณะกรรมการทำงานในเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนคน อุปกรณ์ ถ้าสุดความสามารถก็จะขอความร่วมมือจากประชาชน เพื่อให้พื้นที่นั้นๆ เกิดความสงบ ซึ่งต้องถามความเห็นจากประชาชนด้วย"นายกรัฐมนตรี ระบุ
ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การประกาศใช้เคอฟิวส์ในพื้นที่ความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะรับฟังความคิดเห็นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นหลัก โดยมีการเปรียบเทียบสถิติการเกิดเหตุของแต่ละพื้นที่ พร้อมมองว่าถ้าประกาศเคอฟิวส์แล้วได้ประโยชน์มากกว่าก็ควรประกาศใช้ และส่วนตัวเห็นว่าสิ่งไหนที่ไม่เคยทำก็ควรลงมือทำ เพื่อให้ผู้ก่อความไม่สงบได้เกรงกลัวกฎหมาย
ทั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อผู้นำศาสนาหรือประชาชนที่ประกอบอาชีพในพื้นที่ เพราะสามารถที่จะขออนุญาตเจ้าหน้าที่เป็นกรณีพิเศษได้ เนื่องจากการประกาศเคอร์ฟิวเป็นประกาศเป็นบางช่วงเวลา เช่น 22.00 น. ถึง 02.00 น. และเห็นว่าการประกาศเคอร์ฟิวเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้กลุ่มก่อความไม่สงบลอบวางระเบิดในช่วงดึกตามรายงานด้านการข่าวที่สืบทราบมา
อย่างไรก็ดี หากที่ประชมไม่เห็นด้วยก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหน้า ซึ่งการประกาศเคอร์ฟิวจะมีการหารือกันในวันที่ 15 ก.พ.นี้ และในช่วงเช้าจะไปรับฟังความคิดเห็นจาก กอ.รมน. ก่อนจะมีประชุมในช่วงบ่ายวันเดียวกัน
ส่วนการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยนั้นย่อมเป็นเรื่องธรรมดา เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามที่ประกาศไว้ แต่ตนก็พร้อมที่จะรับข้อเสนอการแก้ปัญหาจากส.ส.ในพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว่า จากการได้ลงมาแก้ปัญหาทำให้ได้มีโอกาสหารือกับนายราจิบ นาซัค นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ซึ่งนายกฯมาเลเซีย เห็นพ้องใน 3 มาตรการ คือ ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน เพราะมาเลเซียไม่สนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหนีเข้าประเทศมาเลเซีย และไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงอีกทั้งทางการมาเลเซีย นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะแก้ปัญหาการขึ้นทะเบียนพนักงานเสริฟและลูกจ้างในร้านต้มยำกุ้งเพื่อให้มีโอกาสเท่าเทียมกัน