"เราต้องฟังเสียงทั้งจากพลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนในพื้นที่ เพื่อมาตกผนึกในคำตอบสุดท้าย แต่จะให้น้ำหนักกับประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก" เลขาฯ สมช.กล่าว
พร้อมระบุว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของจำนวนครั้งและระยะห่างของการเกิดเหตุ ซึ่งหากเทียบกับปี 48 ที่มีการประกาศใช้เคอร์ฟิวแล้ว จะพบว่าสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่รุนแรง และมีความถี่เท่ากับในอดีตที่ผ่านมา
พล.ท.ภราดร กล่าวว่า แม้จากข้อมูลในเบื้องต้นที่ได้จากการรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ว่าไม่ต้องการให้มีการประกาศเคอร์ฟิว เนื่องจากยังมีความเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะสามารถดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนได้ แต่หน่วยงานด้านความมั่นคงก็จะต้องมีการประมวลข้อมูลจากสถิติ จากทั้งในอดีต ปัจจุบัน และการประเมินแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคตมาประกอบการพิจารณาร่วมด้วย ทั้งนี้หากมีการประกาศใช้เคอร์ฟิวจริงก็จะมีการออกมาตรการเพื่อเยียวยาผลผลประกอบการให้กับประชาชนในพื้นที่
ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีแนวคิดประกาศเคอร์ฟิวส์ ที่เริ่มมีเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ว่าจะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตว่า เรื่องนี้จะได้ข้อยุติในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ในวันที่ 15 ก.พ. นี้ ซึ่งหากที่ประชุมไม่ต้องการประกาศก็ไม่ประกาศ แต่เห็นว่าเราควรทำอะไรบ้างที่จะต้องแก้ไขปัญหาในพื้นที่ พร้อมทั้งยืนยันว่าตนเองมีการคิดและเตรียมมาตรการสำรองไว้หากที่ประชุมไม่ประกาศใช้เคอร์ฟิวส์