เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.:"พงศพัศ"เปิดนโยบายโครงข่ายจราจรไร้รอยต่อทั่วกรุง

ข่าวการเมือง Wednesday February 13, 2013 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 9 จากพรรคเพื่อไทย(พท.) เปิดเผยถึงแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาการจราจรสำหรับกรุงเทพฯ เป็นนโยบายโครงข่ายจราจรไร้รอยต่อ เพื่อลดปัญหาจราจร และวางโครงข่ายจราจรและระบบขนส่งมวลชนใหม่ คืนเวลาให้ภาคธุรกิจ คืนความสุขให้ครอบครัว โดยประกอบด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ ดังนี้

1.ขยาย พัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายและเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว เพื่อส่งเสริมให้คน กทม.สามารถเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งมวลชน รถ เรือ ราง จักรยาน ทางเท้า เป็นหลักในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ จะเชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน 3 ด้าน โดยจะสนับสนุนระบบ Feeder เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้า รวมถึงจะมีการพัฒนาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดแนวถนนราชพฤกษ์ และมีแผนที่จะจัดทำรถไฟฟ้าขนาดเบารอบศูนย์กลางคมนาคมพหลโยธิน รถไฟฟ้าขนาดเบา สายสีเทา (ช่วงวัชรพล-พระราม 9) พัฒนาระบบรถรางในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ (Tram Way) เชื่อมโยงการเดินทางสู่รถไฟฟ้า 3 สาย คือ สายสีส้ม สีม่วง และสีน้ำเงิน อีกทั้งจะนำเสนอต่อรัฐบาลปรับโครงสร้างทางด่วน เส้นทางงามวงศ์วาน-เกษตรศาสตร์-ประเสริฐมนูกิจ เป็นรถไฟฟ้าขนาดเบา เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง สีเขียว สีชมพู และสีม่วง

บรูณาการรถประจำทาง เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการของรถประจำทาง เสนอให้มีรถประจำทางฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ติดตั้งป้ายโดยสารดิจิตอลบอกเวลา เชื่อมโยงสัญญาณ GPS และระบบจราจรแจ้งเตือนระยะเวลาการเดินทางให้แก่ผู้โดยสาร พัฒนาระบบให้ข้อมูลการเดินรถผ่านป้ายรถโดยสาร ดิจิตอลบอกเวลา และ Smartphone Application, เชื่อมต่อทางเรือ ยกระดับการสัญจรในคลองสำคัญๆ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าและใจกลางเมือง ยกระดับการเดินทางกับรถไฟฟ้าย่านใจกลางเมือง ขุดลอกคูคลองเพื่อระบายน้ำ ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ใสสะอาด พัฒนาพื้นที่ 2 ฝั่งคลองให้มีความสวยงาม เพิ่มเสน่ห์ให้กับการท่องเที่ยวทางน้ำ

เชื่อมต่อกับรถจักรยาน พัฒนาเส้นทางพิเศษสำหรับจักรยาน เข้าถึงรถไฟฟ้า มีจุดจอดทันสมัย และปลอดภัย พัฒนาเส้นทางพิเศษพิเศษเฉพาะจักรยาน ตามแนวเส้นทางรถไฟชานเมือง พัฒนาเส้นทางจักรยาน เชื่อมต่อเมืองมหาวิทยาลัย (ลาดกระบัง) พัฒนาเส้นทางเดินและจักรยาน บนคลองแสนแสบ พัฒนาจุดจอดรถจักรยานบริเวณสถานีรถไฟฟ้าและสถานที่สำคัญ 100 จุด อีกทั้งจะปรับปรุงพัฒนาทางเดินเท้าและทางจักรยาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างพระราม 8 ถึงสะพาน 2 ฝั่ง ส่งเสริมการสัญจร การออกกำลังกายและการพักผ่อนหย่อนใจ ในบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา และประสานงานกับรัฐบาลผลักดันตั๋วร่วม 1 ใบใช้ได้ทุกที่ ประสานงานกับเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ปรับปรุงและจัดการจุดจอดรถ Taxi รถตู้ ให้เป็นระเบียบเพื่อรองรับผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการ

2. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจราจรให้ลื่นไหลคล่องตัวย่นระยะเวลาในการเดินทางมากขึ้น โดยจัดตั้งศูนย์จราจรกรุงเทพฯ ประสานงานเชื่อมต่อสัญญาณภาพจากกล้อง CCTV ทุกจุดบนถนนเข้าสู่ศูนย์บริหารจราจร และประสานงานกับตำรวจจราจร, สนข., โรงพยาบาล, หน่วยกู้ภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยบนถนน เตรียมพร้อมดูแลพื้นที่เกิดเหตุ ลดเวลาและปัญหาจราจรติดขัดจากอุบัติเหตุ, ประสานงานกับรัฐบาล จัดการการบริหารจราจรด้วยระบบ Intelligent Traffic System (ITS) โดยใช้ระบบ ATC เชื่อมโยงเครื่องข่ายสัญญาณไฟจราจร ควบคุมสัญญาณไฟให้สัมพันธ์กับจำนวนรถยนต์บริเวณทางแยกจากศูนย์กลาง สร้างวินัยจราจรด้วยระบบกล้อง CCTV ผสานระบบตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ และระบบตรวจผู้ฝ่าฝืนวินัยจราจร จัดทำระบบรายการข้อมูลจราจร เหตุฉุกเฉินและจุดเกิดเหตุบนท้องถนนผ่าน Smartphone ให้ประชาชนได้รับข้อมูลแบบ Real time

เพิ่มอาสาสมัครจราจร เพื่อช่วยดูแลการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วน, รณรงค์การจัดระเบียบเมืองและกวดขันวินัยจราจรให้ประชาชนสามารถสัญจรบนทางเท้าได้อย่างปลอดภัย, คืนพื้นผิวจราจร ขยายช่องทางจราจรเพิ่ม เพิ่มทางลอดบนถนนวงแหวนรัชดาภิเษก เพิ่มเติมจากโครงการเดิมของ กทม. และแก้ปัญหาเส้นทางให้บริการของ BRT

"เรามีเป้าหมายลดเวลาการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนให้เร็วขึ้น ซึ่งในปีแรกจะทำให้ได้ 20-30% ในเส้นทางพหลโยธิน พญาไท บรมราชชนนี ราชดำเนินกลาง พระราม 4 รามคำแหง พระราม 9 ลาดพร้าว เพชรเกษม และจรัสนิทวงศ์ ก็จะประสานงานร่วมกับกระทรวงคมนาคม ที่เป็นผู้บริหารจัดการ แล้วผู้ว่าฯ กทม.จะคอยให้การสนับสนุน เพื่อให้พี่น้องประชาชนเดินทางกลับบ้านในช่วงเย็นให้เร็วขึ้น และหวังว่าสิ่งที่เรานำเสนอในวันนี้หวังว่าน่าจะเป็นการลดปัญหาจราจรได้" พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ