"จากการสำรวจเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือต่อผลการสำรวจโพลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 52.40 เชื่อมั่นในระดับปานกลาง รองลงมาร้อยละ 19.07 เชื่อมั่นในระดับมาก และร้อยละ 17.60 เชื่อมั่นในระดับน้อย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
โดยคนกรุงเทพฯ ร้อยละ 39.07 เชื่อว่า สำนักโพลถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง เพราะผลสำรวจที่ออกมาทำให้เชื่อว่าน่าจะมีส่วน และอาจมีการว่าจ้างในการทำสำรวจ แต่อีกร้อยละ 30.60 ไม่เชื่อว่า ถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง เพราะเป็นการบริหารงานกันคนละส่วน ไม่สามารถแทรกแซงได้ และสำนักโพลน่าจะมีจรรยาบรรณและความเป็นกลางอยู่แล้ว
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลโพลว่าจะตรงกับผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ พบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 35.27 คิดว่า ผลโพล น่าจะตรงกับผลการเลือกตั้ง เพราะเมื่อเทียบจากหลายๆ สำนักผลที่ออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่อีกร้อยละ 31.13 คิดว่า ไม่น่าจะตรงกับผลการเลือกตั้ง เพราะยังมีกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจอยู่อีก และความคิดเห็นย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งยังไม่แน่นอน
เมื่อถามถึงผลโพลว่าสามารถชี้นำหรือมีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่นั้น คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 70.87 ระบุว่า ไม่สามารถชี้นำหรือมีผลต่อการตัดสินใจ เพราะแต่ละคนย่อมมีคนที่ตัวเองชอบหรือตัดสินใจเลือกไว้อยู่แล้ว ผลโพลเป็นเพียงข้อมูลสร้างสีสันในการเลือกตั้ง ส่วนการตัดสินใจจะเลือกใครนั้นจะพิจารณาจากตัวบุคคลหรือนโยบายมากกว่าและท้ายที่สุดก็คือตัวเราเองเป็นผู้ตัดสินใจเอง แต่มีเพียงร้อยละ 16.73 ที่ระบุว่า มีผล เพราะสามารถชี้นำได้จริง โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง อาจทำให้คล้อยตามได้ แต่ก็เป็นแค่บางส่วน
ทั้งนี้ นิด้าโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "โพลกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม." ระหว่างวันที่ 12—13 กุมภาพันธ์ 2556 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,500 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ กรณีการทำโพล หรือการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.