สำหรับสิ่งที่คนกรุงเทพฯ เคยผิดหวังกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในอดีต พบว่า ร้อยละ 46.8 ระบุ การกระทำไม่ตรงกับคำพูด ไม่ทำตามสัญญา ทำไม่ได้ตามนโยบายที่ให้ไว้ก่อนเลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 11.8 ระบุปัญหาไม่ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง เช่น ปัญหายาเสพติด การจราจร ขยะ น้ำท่วม, ร้อยละ 7.8 ระบุทุจริต คอรัปชั่น, ร้อยละ 6.9 ระบุ ความล่าช้าและการช่วยเหลือยังไม่ทั่วถึง เงินน้ำท่วมยังไม่ได้เลย เรื่องน้ำท่วมจ่ายเงินไม่ครบ, ร้อยละ 6.5 ระบุ การซื้อเสียง การใส่ร้ายในการหาเสียง นอกจากนี้ ได้แก่ ทำงานไม่เต็มที่ ไม่จริงจัง ไม่ค่อยสนใจคนจน ไม่เคยเห็นผู้ว่าเลย ไม่ให้ความสำคัญกับประชาชน ไม่ได้ผู้ว่าฯ คนที่เลือก ปัญหาเรื่องการเมือง ขัดแย้งในการทำงาน ความขัดแย้งกับรัฐบาล เศรษฐกิจไม่ดี ของแพง ปัญหากล้องวงจรปิดทั่วกรุงเทพมหานคร ไม่ได้คนเก่งจริง นโยบายไม่ดี ผิดหวังอุโมงยักษ์ ละเลยหน้าที่ การตัดสินใจของผู้ว่าไม่เด็ดขาดพอ ดีแต่สร้างภาพ การทำถนนมากเกินไป กล้องปลอม กล้องทำงานไม่ได้ ประชาชนไม่ให้ความสำคัญในการเลือกตั้ง และป้ายหาเสียงกีดขวางทางเดินและบังในการมองเห็น
ส่วนสิ่งที่คนกรุงเทพฯ สมหวังประทับใจในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ในอดีต พบว่า ร้อยละ 18.7 ระบุ มีการจัดหน่วยเลือกตั้งที่สะดวกกับผู้เลือก มีการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งที่ดี มีคนมาใช้สิทธิจำนวนมาก รองลงมาร้อยละ 18.2 ระบุบางนโยบายทำได้จริง ทำตามที่เคยหาเสียงไว้, ร้อยละ 8.1 ระบุการพัฒนากรุงเทพให้ดีขึ้น ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม เพิ่มพื้นที่สีเขียว มีการรณรงค์อย่างจริงจัง สร้างอุโมงยักษ์จัดการเรื่องน้ำท่วมได้ ช่วยเหลือน้ำท่วมทันท่วงที การเพิ่มเส้นทางจักรยาน สร้างรถไฟฟ้า การสร้างรถไฟฟ้าให้เกิดขึ้นหลายสาย รถเมล์ฟรี เข้ากับประชาชนได้ง่าย เข้าถึงประชาชน ความร่วมมือของประชาชน พบปะประชาชนในพื้นที่ เป็นคนดี พูดดี เป็นคนตรงไปตรงมา ไม่ถือตัว เรียบร้อย ใจเย็น ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ค่อยมีข่าวด้านลบมากนัก ลงมารับฟังปัญหาประชาชนใกล้ชิดเวลาหาเสียง การดูแลประชาชนดี แก้ปัญหาได้ตรงจุด ลงพื้นที่ขอบคุณหลังเลือกตั้ง ผู้ว่าคนเดิมทำงานจริงจังแต่ที่งานออกมาไม่ดีอาจเกิดจากอุปสรรคอยากให้โอกาส กล้องวงจรปิดเยอะกว่าเดิม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม คิดอย่างไรทำอย่างนั้น ได้คนที่เลือก สร้างสนามฟุตซอล ช่วยหาอาชีพให้ ความยุติธรรม แก้ปัญหายาเสพติด และแก้ปัญหาค่าครองชีพ
และเมื่อถามถึงการเพิ่มอำนาจให้ผู้ว่าฯ กทม.สามารถจัดการแก้ปัญหาสำคัญในกรุงเทพฯ พบว่า ร้อยละ 34.4 ต้องการให้มีอำนาจเพิ่มขึ้น เพราะการแก้ไขปัญหาจะได้เร็วขึ้น เป็นเอกภาพในการตัดสินใจ มีอำนาจเด็ดขาด ไม่มีการแทรกแซงจากนักการเมือง เป็นต้น รองลงมาร้อยละ 19.3 ไม่ต้องการเพราะมีอำนาจเพียงพอแล้ว
ทั้งนี้ เอแบคโพลล์ จัดทำผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ร้อยคำบรรยายจากใจคนมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ว่าด้วยนโยบายที่อยากเสนอด้วยตนเอง ความผิดหวังและความสมหวังในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในอดีต กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 3,631 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8—15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา