เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า ได้มีการหารือถึงปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ว่าพื้นที่ใดมีแนวโน้มที่จะสามารถปรับลดจำนวนเจ้าหน้าที่ลงได้ในกรณีที่พื้นที่นั้นสถานการณ์ความไม่สงบเริ่มเบาบางลง ซึ่งจะเก็บไว้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับลดการบังคับใช้กฎหมายที่ดูแลจาก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน(พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) มาเป็น พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(พ.ร.บ.มั่นคง)
ทั้งนี้ ในวันที่ 19 มี.ค.56 จะครบกำหนดอายุการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นในระหว่างนี้จะมีการพิจารณากันอีกรอบว่าในพื้นที่ใดที่จะสามารถปรับลดโทนในการใช้กฎหมายควบคุมลง ซึ่ง สมช.จะไปประชุมหารือกันต่อไป อย่างไรก็ดีจะให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าหากพื้นที่ใดที่เปลี่ยนจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาเป็น พ.ร.บ.มั่นคง แล้วก็จะไม่มีการหันกลับไปใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก โดยต้องให้ความแน่ใจและมั่นใจกับประชาชนว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถดูแลสถานการณ์ได้
โดยเบื้องต้นพบว่ามีมากกว่า 5 อำเภอที่จะสามารถปรับลดโทนการดูแลสถานการณ์จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลงมาเหลือ พ.ร.บ.มั่นคง ได้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ เพราะต้องรอให้มีความชัดเจนจากที่ประชุมร่วมกันก่อน
"ต้องรอเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเมื่อประกาศลดโทน ทหารต้องถอนกำลัง ตำรวจ, เจ้าหน้าที่มหาดไทยต้องเสริมให้สอดรับกัน ตอนนี้มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1,700 อัตรา และอาสาสมัครอีก 900 อัตรา" เลขาธิการ สมช.ระบุ
ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบหมายให้ทำหนังสือชี้แจงไปยังกลุ่มประเทศมุสลิม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้พาคณะของประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม(OIC) ลงพื้นที่สังเกตการณ์มาครั้งหนึ่งแล้ว